ไอแซค อสิมอฟ นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานราวห้าร้อยเล่มตลอดชีวิตการเขียนของเขา เคยกล่าวว่า "คุณต้องส่งงานออกไปอย่างต่อเนื่อง คุณต้องไม่ให้ต้นฉบับกัดกินตัวเองจนตายคาลิ้นชัก คุณส่งงานออกไปแล้วออกไปอีก ขณะที่คุณทำงานชิ้นใหม่ ถ้าคุณมีความสามารถ คุณจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณกัดไม่ปล่อยเท่านั้น"
อาการ 'กัดไม่ปล่อย' นี้ดูเหมือนเป็นสิ่งที่คนยุคใหม่ไม่ว่าในวงการไหนขาดแคลน
ในสมัยก่อนเมื่อคนจีนอพยพมาเมืองไทย การเดินทางแบบ 'เสื่อผืนหมอนใบ' เป็นภาพแสนสามัญ ความหยิบหย่งในยุคสมัยนี้มาพร้อมกับค่านิยมที่ว่า ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่สบาย
ความคิดที่ว่า ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ทำงานหนัก เป็นความเชยอย่างยิ่ง มิพักเอ่ยถึงการทำงานจนถึงวันตาย ช่างเป็นสิ่งที่น่ากลัวอะไรเช่นนี้
ใช่ มันน่ากลัว เพราะใคร ๆ ก็อยาก 'เออร์ลี รีไทร์' พร้อมเงินเต็มกระเป๋า
น่าแปลกที่ใคร ๆ มักบอกว่าจะ 'ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ'
แปลกตรงที่เลือกทำสิ่งที่อยากทำในช่วงท้ายของชีวิต หลังจากทำงานหาเงินมาทั้งชีวิต
หากมีฝัน ทำไมต้องรอ?
เราทุกคนมีความฝัน ใหญ่บ้างเล็กบ้าง หลายคนมีความฝันสวยงาม แต่ไม่ลงแรง หลายคนท้อเพียงเมื่อสะดุดล้มก้าวแรก เมื่อได้ยินคำว่า "ฝันไปหรือเปล่า?" ก็ใจฝ่อ เก็บฝันนั้นไว้ในลิ้นชัก บางคนล็อคกุญแจไว้อย่างดี ซ้ำร้ายบางคนยังทำกุญแจนั้นหายไปอีก
ความล้มเหลวส่วนใหญ่เกิดจากการที่เราเป็นคนเก็บฝันในลิ้นชักนั้นเอง
ทุกครั้งที่เห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ หลายคนเอ่ยประโยคยอดฮิต "นั่นเป็นสิ่งที่ฉันเคยคิดจะทำนี่นา..."
เส้นแบ่งระหว่างความสำเร็จกับความล้มเหลวเป็นเส้นบางนิดเดียว โลกนี้ไม่มีฝันโง่ ๆ มีแต่ฝันที่ทำหรือไม่ทำ
ตั้งแต่นาทีแรกที่เราออกจากท้องแม่ เราพานพบอุปสรรคนานาประการ หากเป็นความฝันก็สมควรลองดูสักตั้ง อย่างมากก็แค่ล้ม ไปไม่ถึงฝันยังดีกว่าไม่ได้ลองทำตามฝันแต่ล้มเหลว
หยิบฝันออกมาใหม่ ปัดฝุ่น เข้าเกียร์เดินหน้า เดินหน้าและกัดไม่ปล่อย
……………….
จากหนังสือ ความฝันโง่ๆ
วินทร์ เลียววาริณ
https://www.facebook.com/winlyovarin/