การศึกษาของสแตนฟอร์ด
ผมเพิ่งรู้ว่า อธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดนั้น ไม่เคยเรียนหนังสือที่อเมริกามาก่อน (เดิมท่านเป็นชาวแคนาดา เรียนจบตรีที่แคนาดา และเอกที่อังกฤษ แล้วจึงค่อยย้ายมาสหรัฐฯ)
เมื่อวาน ที่มหาวิทยาลัยมีการจัดงานเสวนากับท่าน เกี่ยวกับประสบการณ์และวิสัยทัศน์เรื่องการศึกษา ผมฟังแล้วก็ได้กลับมาคิดทบทวนหลายอย่าง
มีคนถามท่านว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ท่านอยากได้ข้อคิดอะไรก่อนที่ท่านจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
ท่านตอบว่า อยากให้มีคนบอกท่านว่า #คนเราไม่จำเป็นต้องวางแผนชีวิตทั้งชีวิตในวันแรกที่เข้ามหาวิทยาลัย นอกจากไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นไปไม่ได้ด้วย เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า โอกาสใดจะเข้ามาเมื่อไร และตัวเราเองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
สแตนฟอร์ดดูเหมือนจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ยืดหยุ่นที่สุด เด็ก ป.ตรีที่นี่เข้าเรียนวันแรกโดยยังไม่ต้องเลือกคณะ แต่ละคนค่อยๆ มาทดลองวิชาและเรียนรู้ว่าตัวเองชอบและสนใจอะไรในช่วงสองปีแรก จากนั้นจึงค่อยเลือกว่าฉันจะจบคณะไหน
ตัวท่านเองเรียนฟิสิกส์ตอน ป.ตรีที่แมคกิล ประเทศแคนาดา และได้ทุนไปเรียนตรีอีกใบที่ออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ซึ่งท่านเลือกเรียนปรัชญาและสรีรวิทยา จากนั้นจึงเรียนต่อ ป.เอก ด้านสรีรวิทยาที่ยูซีแอล แล้วจึงมาทำวิจัยด้านสมองที่สหรัฐฯ จนเป็นนักวิจัยด้านสมองที่มีชื่อเสียง เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ที่สแตนฟอร์ดอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วจึงย้ายไปบริหารบริษัทไบโอเทคขนาดใหญ่ ก่อนจะกลับมารับตำแหน่งอธิการบดี
นึกย้อนถึงวัยเด็ก ท่านบอกว่า ตัวท่านโชคดีสองเรื่อง หนึ่งคือ #ท่านได้รับการศึกษาที่กว้าง ไม่ใช่แคบอยู่เฉพาะศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง
วิชาที่กลับให้ประโยชน์มากที่สุดกับท่านคือ วิชาปรัชญา เพราะเป็นวิชาที่ค่อนข้างแตกต่างจากวิทยาศาสตร์ (ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญหลักของท่าน) เพราะในวิทยาศาสตร์ จะมีข้อมูลและข้อเท็จจริงชัดเจน แต่ปรัชญาเป็นเรื่องของการให้เหตุผลล้วนๆ ซึ่งช่วยฝึกวิธีคิดในเรื่องต่างๆของท่าน
สแตนฟอร์ดจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาที่กว้าง, เมื่อวันก่อน เพื่อน ป.เอกของผมเพิ่งบอกว่า ไม่น่าจะมีมหาวิทยาลัยไหนอีกแล้วมั๊ง ที่การไปลงเรียนและทำวิจัยข้ามคณะง่ายเท่ากับที่สแตนฟอร์ด
ความโชคดีอีกเรื่องหนึ่งของท่าน คือสมัยที่ท่านเรียนมหาวิทยาลัย ท่านได้เจอ #ครูดีที่ช่วยแนะแนว แนะนำท่านว่า วิชาไหนน่าสนใจ ทุนการศึกษาไหนอาจเปลี่ยนชีวิตท่านได้ ฯลฯ
ท่านบอกว่า ในเรื่องนี้ นักเรียนของสแตนฟอร์ดจะต้องไม่ขึ้นกับโชคชะตาอย่างท่าน สแตนฟอร์ดจัดให้มีระบบครบวงจรที่จะแนะแนวและช่วยเหลือนักเรียน ตั้งแต่เรื่องการเลือกวิชา ทุนการศึกษา การเขียน การนำเสนองาน การหางาน การสร้างสรรค์ธุรกิจ ฯลฯ เด็กอยากทำอะไร อยากพัฒนาตนเองด้านไหน เรามีระบบพร้อมที่จะซัพพอร์ตเด็ก
มีคนถามท่านว่า เมื่อท่านเรียนจบ ทำไมท่านจึงเลือกมาทำวิจัยและทำงานในสหรัฐฯ? (ตอนนี้ท่านได้สัญชาติสหรัฐฯ แล้ว)
ตอนจบ ป.เอก ท่านได้ offer งานทั้งที่ลอนดอนและสหรัฐฯ แต่ท่านเลือกมาที่สหรัฐฯ ความคิดแรกก็แค่อยากทดลองของใหม่ๆ เพราะท่านไม่เคยอยู่ที่สหรัฐฯ มาก่อนเลย
แต่พอมาทำวิจัยและทำงานที่นี่ ท่านก็ติดใจ เพราะรู้สึกได้ถึง #พลังบวก พลังความเป็นไปได้ พลังความมั่นใจของคนที่นี่ และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้คนใช้ศักยภาพของตนให้เต็มที่ ทุนวิจัยก็มีมาก และไม่ติดกฎระเบียบหยุมหยิม
ท่านบอกว่า ถ้าเป็นที่อื่น เวลาจะทำอะไรใหม่หรือบุกเบิกแนวทางใหม่สักอย่าง จะถูกตั้งคำถามมาก คุณทำอย่างนี้ได้ด้วยหรอ? นี่มันแหวกแนวเกินไป? แต่ถ้าเป็นวัฒนธรรมวิชาการของสหรัฐฯ กลับจะได้ยินว่า เฮ้ย น่าสนใจดี! ลองดูสิ! ถ้าล้มเหลวก็ไม่เป็นไร ก็เริ่มต้นและลองกันใหม่
เมื่อกลับไทยครั้งที่แล้ว ผมเจอน้องคนหนึ่งเพิ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ไทยแห่งหนึ่งได้ พูดคุยกัน เหมือนว่าน้องเขาจะเห็นภาพชีวิตข้างหน้าทั้งชีวิตเรียบร้อยแล้ว ("มีอะไรต้องคิดอีกล่ะครับ สอบเข้าคณะนี้ ก็ประกอบอาชีพนี้") พอคุยเรื่องการเลือกวิชา น้องเขาก็ดูเลือกได้ค่อนข้างจำกัดมาก ในเรื่องทัศนคติ น้องเขาดูเหมือนจะเตรียมไปรับถ่ายทอด "ความรู้" แต่เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เตรียมไปฝึก "วิธีคิด" "วิธีถาม" หรือเอาความรู้ที่ได้มาเป็นฐานคิดเปิดเส้นทางอะไรใหม่ๆ
คนมักรู้กันว่า ตัว ม.สแตนฟอร์ดมีเงินเยอะมากเหลือเกิน เพราะเศรษฐีฝรั่งชอบบริจาคเงินให้กับมหาวิทยาลัย แต่ผมว่าสิ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยยิ่งใหญ่ คือ ทัศนคติต่อการศึกษามากกว่า
สาระของ "การศึกษา" คืออะไรครับ? คือการจำกัดกรอบ หรือการเปิดกะลา?, คือการจำสิ่งที่ถูก หรือพร้อมลองผิดลองถูกเพื่อสร้างสรรค์?, คือการตั้งไมค์กับกระดานให้พร้อม หรือการสร้างสภาพแวดล้อมให้นิสิตมีโอกาสพร้อมที่จะพัฒนาตนเองเต็มที่ตามศักยภาพที่เขาจะเป็นได้?