(ต่อจาก >>485 )
มาที่ #ฝ่ายแง่บวก กันบ้าง
นักวิจารณ์ฝั่งนี้มอง Marvel ในทางบวกพวกเขายกย่องว่านำเสนอเรื่องสภาวะ Post-Traumatic Stress Disorder สภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ผ่านตัวละคร
ธอร์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งพี่แกเจอมาหมดตั้งแต่น้องตาย แม่ตาย พ่อตาย เพื่อนตาย และประชาชนแอสการ์ดตาย ใครไม่ชีวิตพังมันก็ออกจะเทพเกินไปหน่อย (แต่ธอร์ก็เทพนะ 555) มันเป็นไปได้ที่ผู้มีอาการนี้จะมีพฤติกรรมการทานอาหารที่เปลี่ยนไป อาจจะกินมากขึ้นหรือลดลงและมีสภาพหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ไม่ดูแลตัวเอง ซึ่ง Marvel กล้าเล่นกับความรู้สึกของคนดูที่ปกติแล้วจะคุ้นชินกับภาพลักษณ์หุ่นฟิตเปรี๊ยะ กล้ามซิกซ์แพคเป็นกระดานซักผ้าของ คริส เฮมสเวิร์ธ กลายมาเป็นชายอ้วนบวมเบียร์ หนวดเครารุงรัง ผมเผ้าสังกะตัง วันๆ เอาแต่เล่นเกมและด่าเกรียนอินเตอร์เน็ต สภาพของธอร์แสดงออกถึงเรื่องราวในใจเขาได้หมดทุกอย่าง เขายังไม่สามารถก้าวข้ามความผิดหวัง และโทษตัวเองที่ไม่สามารถฆ่าธานอสได้ตอนที่มีโอกาส ธอร์เสียทุกอย่างไปแล้วสิ่งสุดท้ายที่เขาเสียไปอีกก็คือตัวเอง
แต่อย่างไรก็ตามหนังก็ได้แสดงฉากที่เขาได้คุยกับท่านแม่เรื่องความผิดหวังในตัวเองที่ทำพลาดไป
ซึ่งท่านแม่ก็ได้คำแนะนำที่ล้ำค่าแก่เขาและทำให้เขา ได้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าคู่ควรสามารถถือค้อนมโยลเนียร์ได้อีกครั้ง และตลอดทั้งเรื่องธอร์ออกรบในรูปร่างอ้วนอวบ โดยไม่ได้เปลี่ยนร่างกลับไปหล่อเหมือนเดิม เพราะเขาคิดว่ารูปร่างไม่ได้มีผลอะไรกับเขาอีกต่อไป เราเลยได้เห็นฮีโร่หมีหุ่นอวบ ถือขวาดฟาดกับธานอสได้อย่างสมศักดิ์ศรี และนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ได้มีฮีโร่ร่างท้วมในโลกภาพยนตร์
มาที่คำตอบของผู้กำกับ
ผู้กำกับแอนโทนี่ รุสโซ่ บอกว่า ประสบการณ์ทุกอย่างที่ตัวละครได้ประสบมาถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานสร้างตัวละครในภาคนี้ ธอร์เป็น Avengers ที่น่าจะเผชิญกับความสูญเสียมามากที่สุด เขามาอยู่ในจุดตกต่ำสุดในชีวิต
เส้นทางที่ต่อจากความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจะเป็นอะไรไปได้อีก แต่ทางทีมงานเลือกให้เขาเดินบนเส้นทางที่แฝงไปด้วยมุกตลกขบขัน เพราะธอร์
“ทำเพื่อปกป้องตัวเองจากความเจ็บปวดและอดทนต่อการดำรงอยู่ของเขา และเขาก็รักษาตัวเองไว้นานพอที่จะหาทางกลับมาได้ ผมคิดว่ามันเป็นหนทางเดียวสำหรับตัวละครตัวนี้โดยพิจารณาจากความยากลำบากในการเดินทางของเขาจนในขณะนั้น”
โอยอ่านแล้วจะร้องไห้อีกรอบ
ด้านความคิดเห็นของคริส เฮมส์เวิร์ธ
เจ้าตัวบอกว่าการได้เป็นธอร์อ้วนก็เป็นสิ่งที่เขาไม่คาดคิดเหมือนกัน มันเป็นเรื่องของการ “เติบโต” ของตัวละครที่เขาไม่คิดมาก่อน แต่ยังไงเขาก็ยืนยันว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว
“ผมสนุกมากและรู้สึกซาบซึ้งมากที่มันเกิดขึ้นแบบนี้ เราจบมันได้อย่างยอดเยี่ยมเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ๆ ”
สรุปสุดท้าย
แอดเห็นด้วยกับทาง Marvel ที่จะนำเสนอตัวละครออกมาให้รูปแบบนี้เพราะรู้สึกว่าเพิ่มมิติความเป็นมนุษย์ให้ตัวละครเทพอย่างธอร์ แม้ว่าเขาจะสูญเสียทุกอย่างถึงขั้น เสียรูปร่างอันสมบูรณ์แบบแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ได้มีคุณค่า ธอร์ได้เรียนรู้ที่จะก้าวเดินต่อไป แต่ฝ่ายที่เห็นต่างก็ไม่ผิดเช่นกันและถือว่าเป็นความคิดอีกด้านที่จะทำให้ทางผู้สร้างหนังนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป เพราะเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน
สิ่งหนึ่งแอดชอบมากจากเรื่องราวของธอร์ ใน Avengers: Endgame ซึ่งทางNerdist สรุปไว้ได้ดีมาก ก็คือเราได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่เราทำผิดพลาดไป แต่ความชอกช้ำเหล่านี้มันไม่ได้กำหนดตัวตนของเรา ไม่ได้กำหนดอนาคตของเรา ธอร์เป็นเหมือนตัวแทนความหวังสำหรับคนที่ต้องมีชีวิตอยู่กับความเจ็บปวดในอดีต
บาดแผลนี้ทำให้เขาแข็งแกร่งขึ้น เช่นเดียวกับพวกเราทุกคนค่ะ
#มิตรสหายท่านหนึ่ง