นี่เป็นข้อแตกต่างระหว่างสังคมตะวันตกที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคล กับ สังคมเอเชียที่รวมหมู่ (Collective) อยู่เหมือนกัน
คือเรื่องของ Code of Ethics (หลักจรรยาบรรณ) สังคมตะวันตกมักปรับใช้กับงานและองค์กร คือแตะเรื่องส่วนตัวน้อยหน่อย แต่ถ้ามีผลกับการดำเนินงานถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมากกว่า
ขณะที่สังคมเอเชีย พวก Code of Ethics จะกำกับหรือ Regulate กับตัวปัจเจกบุคคลนำหน้างานหรือองค์กรมาก่อน ทำนองว่า ครูที่ดีไม่ควรมีรอยสักให้เห็นนอกร่มผ้าเปิดเผย ผู้บริหารที่น่านับถือต้องไม่ประสบความล้มเหลวในชีวิตคู่ ถึงจะได้รับการยอมรับเข้าสู่ตำแหน่ง
ด้านกลับ คนตกขอบทางสังคม ก็ต้องพรีเซนต์ตัวเองว่าอยู่ในกรอบ Code of Ethics อยู่ในร่องในรอยถึงสมควรจะได้รับการช่วยเหลือส่งเสริม จริงๆ ก็มีกันทั่วโลกแหละเรื่องความรู้สึกว่าอยากช่วยคนที่สมควรช่วย โดยใช้การประเมินทางศีลธรรมประกอบการตัดสินใจ แต่สังคมตะวันตกที่เคารพความเป็นปัจเจกบุคคล จะหลวมกว่านี้
สังคมเอเชียเอา Code of Ethics กำกับตัวบุคคลอย่างนี้กันมาก ข้อดีน่ะมีแต่ขอละไว้เกรงจะนอกประเด็นยาว แต่ข้อเสียที่ตามมาคือ มันแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ในเมื่อมันต้องสร้างภาพลักษณ์ โกหก เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนส่งเสริม เล่นละครกันเก่ง ตัวอย่างที่เล่นใหญ่รัชดาลัยเธียเตอร์ในประเทศนี้คืออะไรผมคงไม่ต้องบอก แต่มันเป็นอย่างนี้เยอะ ลาออกจากงานเพราะค่าแรงไม่พอกิน รู้สึกถูกเอาเปรียบ แต่ปากบอกขอกลับไปดูแลแม่ที่ป่วยจะได้ดูมีทางลงสวยๆ
ตะวันตกที่มีการตกผลึกขบคิดทางปรัชญาความคิดมาเนิ่นนานแล้ว ถึงได้เน้นให้คนพูดความจริง ไม่ใช่จริงแบบปากไม่มีหูรูดนะ แต่มันคือจะได้เห็นแก่นแท้ของสารัตถะของปัญหา ความจริงที่พูดออกมาจากปากถึงมันน่าเจ็บปวด อับอาย แต่มันทำให้ภาพของปัญหามันกระจ่างชัดกว่าพยายามทำให้ชีวิตอยู่ในโรงลิเก มหาลัย Harvard มีคำขวัญคำเดียวคือ Veritas เป็นคำละตินหมายถึง ความจริง (Truth) ขณะที่คำขวัญสถาบันศึกษาไทย ไม่พรีเซนต์ความยิ่งใหญ่ของสถาบันก็ยัดเยียดความคาดหวังพฤติกรรมและคุณลักษณะของนักเรียนนักศึกษาผ่านคำขวัญนั่นแหละ เก่งวิชา กีฬาดีฯลฯ ได้ตามความคาดหวังสักกี่คนกัน
ขอทานเพื่อกินเหล้าก็ให้รู้ว่าจะไปกินเหล้า ไม่สะดวกใจจะให้ก็ไม่ต้องให้ แต่ไป judge พิพากษาว่าเขาไม่สมควรได้รับการโอบอุ้มสนับสนุนใดๆ โดยสิ้นเชิง จนกว่าเขาจะพิสูจน์ตัวเองว่า purify หรือทำตัวเองให้บริสุทธิ์ผุดผ่องได้แม้กระทั่งโกหกก็ตาม ก็ไม่แปลกใจเลยที่ความคิดการเมืองจะเที่ยวใฝ่หานักการเมืองที่บริสุทธิ์เป็นเทวดาซึ่งไม่มีอยู่จริง เมื่อไหร่จะมองคนเป็นคนจริงๆ ที่มีดีๆ เลวๆ มีทั้งสตรอง ทั้งป่วยๆ มีทั้งเอาถ่านไม่เอาถ่าน ผสมปนเปกันไปในสังคมของคน ไม่ใช่ยูโทเปีย
ส่วนตัวมองว่าวัฒนธรรมสงวนท่าทีรักษาภาพลักษณ์ส่วนตัวแบบเอเชีย ลดทอนคุณค่าในการเข้าถึงสารัตถะ หรือแก่นปัญหาที่เป็น core ใจกลางสำคัญมากๆ มันเหมือนถ้าคุณจะทำความเข้าใจกับคนสักคนหรือปัญหาสักเรื่อง มันมีชั้นเคลือบกันหลายๆ ชั้นยิ่งกว่าช็อกโกแลตเฟอเรโร่รอชเชอร์ที่ฟันคุณต้องกัดให้เข้าไปถึงเม็ดถั่วแมคคาเดเมียที่อยู่ชั้นในสุด
#มิตรสหายท่านหนึ่ง