"เราว่าปัญหาฝุ่นนี่มันเอามาเล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ตั้งแต่สาเหตุและผล เล่าได้ตั้งแต่ต้นจนจบ คือเป็นอะไรที่ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำดีมาก
ตั้งแต่สาเหตุ คือไม่มีใครอยากนั่งเผาป่า เผาซังอ้อย ทำโรงงานที่ปล่อยสารพิษ หรือทำลายสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวหรือเปล่า
เขาต้องโดนผลัก โดนขูดรีด จากสังคมและระบบการกระจายรายได้อย่างสุดตัวแล้ว ถึงต้องทำให้เขาไปขูดรีดต่อจากสิ่งแวดล้อม ใครจะอยากเผาซังอ้อย ถ้าราคาอ้อยมันดี ๆ หรือมีอุปกรณ์ให้เขาฝังกลบ หรือมีเทคโนโลยีช่วยไม่ให้ต้องแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่มีราคาถูกที่สุด
นี่ไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำในประเทศอย่างเดียวด้วย มีคนเล่าว่าการเผาป่าเกี่ยวข้องกับ global supply chain ซึ่งทำให้นี่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับโลก
ทางยุโรปที่เขาแคร์เรื่องโลกร้อนมากๆ เขาถึงได้มีแคมเปญ zero palm oil เพราะเขามองว่าการเผาป่าในพื้นที่ป่าแถบสุมาตรา ชวา ฯลฯ เป็นต้นเหตุหนึ่งของโลกร้อน แต่ของไทยนี่ก็ยังไม่มีการแจ้งสาเหตุอย่างเป็นทางการในระดับภูมิภาคเลยว่ามันเกิดอะไร คงไม่อยากให้มี zero xxxx แล้วมารบกวน wealth ของเขา
ความยากจน นี่เป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อม ตอนเรียน ป. โท อาจารย์คนหนึ่งเคยสอนเราว่า นี่คือ externalities เป็นต้นทุนที่ไม่เคยเอามานับ และมันไม่อาจแก้ไขได้โดยการออกกฎระเบียบมาห้ามไม่ให้เขาทำลายสิ่งแวดล้อม แต่มันต้องแก้ไขระบบการกระจายรายได้
แล้วผลมันก็ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่คนที่ได้รับผลกระทบมันก็เหมือนจะเท่ากันแต่ไม่เท่ากันใช่ไหม
การเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวเองที่ไม่เท่ากัน ราคาเครื่องกรองฝุ่นที่แพงมาก และฉวยโอกาสทำให้แพงมากในช่วงฝุ่นเยอะๆ มีไม่เท่ากัน การเข้าถึงหน้ากากกรองฝุ่น ความรู้เรื่องปัญหาสุขภาพที่เกิดมาจากฝุ่น และในบั้นปลาย คนที่ต้องดูดซับปัญหานี้ก็คือคนที่เข้าถึงข้อมูลและการป้องกันตัวได้ต่ำกว่าคนอื่นเขา นี่ก็คือปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ"
#มิตรสหายท่านหนึ่ง