(ต่อจาก >>359 )
ดังที่ลาลูแบร์กล่าวไว้ นโยบายและระบบของรัฐจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของช่างฝีมือและผู้ประกอบการ
จะเห็นว่า เมื่อมีการยกเลิกระบบไพร่ในช่วงรัชกาลที่ 4 (และเก็บภาษีรายหัวแทน) พลังของไพร่จึงได้รับการปลดปล่อย และเกิดเป็นชาวนาอิสระจำนวนมาก ส่งผลต่อการขยายการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดในช่วงรัชกาลที่ 5
จนมีคำกล่าวในยุคนั้นว่า “ไพร่ที่หิวโหยและหาเลี้ยงตน ขยันและทำงานได้ดีกว่าไพร่ที่ถูกบังคับเป็นอย่างมาก”
แน่นอนว่า ในยุคปัจจุบัน ระบบการเกณฑ์แรงงานได้ถูกยกเลิกไปแล้ว (ยกเว้นการเกณฑ์ทหาร) แต่แรงงาน (หรือไพร่ที่ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานอีกแล้ว) จะเป็นอิสระที่จะได้ประกอบกิจการของตนขึ้นมาได้จริงหรือไม่?
อืมม์ คำตอบนี่อาจยากสักหน่อย เพราะการบังคับก็ยังมีอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปจากการบังคับแรงงานโดยตรง มาเป็นการบังคับผ่านกลไกทางเศรษฐกิจ นั่นหมายถึง แรงงาน (หรือไพร่) จะมีอิสระในการประกอบกิจการของตน ตราบใดที่มีผลประกอบการเพียงพอที่จะเลี้ยงชีพของตนได้
ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จึงพบว่า ความกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษา (รวมถึงการชำระคืนเงินกู้ยืมทางการศึกษา) ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และค่าใช้จ่ายยามชรา เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับแรงงานในการก้าวเข้าสู่การเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ
กล่าวคือ แรงงานที่กังวลใจในค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็อาจจำเป็นต้องเลือกขายแรงงานให้กับบริษัท ซึ่งแม้จะดีกว่าถูกเกณฑ์แรงงานโดยรัฐ แต่ก็อาจต้องแลกมาด้วยการไม่ได้เดินตามเส้นทางชีวิตที่ตนใฝ่ฝันไว้
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศที่มีระบบสวัสดิการด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุดีกว่าสหรัฐอเมริกา เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ จึงมีอัตราส่วนผู้ประกอบการรุ่นใหม่สูงกว่าในสหรัฐอเมริกาตามไปด้วย เพราะผู้ที่จะก้าวมาเป็นสตาร์ทอัพไม่ต้องกังวลใจกับความเสี่ยง (ทางเศรษฐกิจ) ในชีวิตของตนนั่นเอง
นอกจากนี้ ในกรณีของประเทศไทย โอกาสในการเข้าถึงตลาดที่จำกัด ทั้ง (ก) ในเชิงพื้นที่ทางกายภาพในการวางสินค้าและกระจายสินค้า ที่ถูกเจ้าของพื้นที่และเจ้าของกิจการในระบบการค้าปลีกสมัยใหม่ผูกขาดไว้ และคิดค่าใช้จ่ายในราคาแพง และ (ข) ในเชิงกฎหมาย เช่น การห้ามผู้ผลิตเบียร์รายเล็ก ก็ยังเป็นข้อจำกัดที่สำคัญสำหรับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ด้วย
ดังนั้น การจะทำให้คนรุ่นใหม่เป็นสตาร์ทอัพ หรือการยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรมแบบ 4.0 จึงมิใช่การเรียกร้องให้คน “ขยันต้นคิด” เท่านั้น แต่ยังต้องมี “รัฐบาล” หรือระบบรัฐที่เอื้อต่อการเติบโตของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วย
ในมุมมองของผม ระบบสวัสดิการและความเปิดกว้างของระบบเศรษฐกิจจึงเป็นกลไกสำคัญในการ “ปลดปล่อย” พลังของไพร่ (หรือแรงงาน) รุ่นใหม่ให้กลายเป็นเจ้าของกิจการตามฝีมือและความใฝ่ฝันของตน
ผมเชื่อว่า หากเราทำได้ เราจะพบว่า “ไพร่ (แรงงาน) ที่ได้ทำตามความใฝ่ฝันของตนนั้น มีพลังมากกว่าไพร่ที่หิวโหย และไพร่ที่ถูกบังคับมากมายนัก”
#มิตรสหายท่านหนึ่ง