ลาลูแบร์ จีนฮง และสตาร์ทอัพ
ด้วยอิทธิพลจากละครบุพเพสันนิวาส ผมจึงไปซื้อหนังสือ “จดหมายเหตุของลาลูแบร์” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ มาหนึ่งเล่ม เป็นเล่มที่ใหญ่มาก (แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร)
และเหมือนจะเป็นบุพเพสันนิวาส เมื่อผมลองเปิดหนังสือเล่มใหญ่ดู ผมก็เจอกับหน้าที่ 214 ซึ่งเป็นหน้าที่ทำให้ผมชะงักไปครู่ใหญ่
ในหน้านี้ ลาลูแบร์เขียนบรรยายเกี่ยวกับ “ฝีมือในการช่างของชาวสยาม” ในย่อหน้าแรก ไว้ดังนี้
“ในกรุงสยาม ไม่มีบริษัทหรือองค์กรรวมช่างฝีมือเป็นปึกแผ่น และวิชาช่างก็ไม่เจริญในหมู่ชาวสยาม มิใช่เนื่องจากสันดานเกียจคร้านของเขาเพียงอย่างเดียว หากเนื่องจากรัฐบาลที่ปกครองพวกเขาอยู่อีกด้วย โดยเหตุที่ทรัพย์สินของประชาชนนั้นไม่อยู่ในฐานะปลอดภัย นอกจากจะซ่อนเร้นปิดบังไว้อย่างมิดชิดเท่านั้น ทุกคนจึงมีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ วิชาช่างทุกสาขาจึงไม่สู้มีความจำเป็นกับพวกเขาเท่าไรนัก และช่างก็ไม่รู้มูลค่าของงานซึ่งเขาจะลงทุนลงแรงทำลงไป ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยเหตุที่ชายฉกรรจ์ต้องไปทำงานหลวงปีละ 6 เดือน และไม่แน่นักว่าจะถูกเกณฑ์เพียงชั่ว 6 เดือนเท่านั้น จึงไม่มีใครหน้าไหนในประเทศนี้ กล้าแสดงตนว่าเป็นช่างผู้ชำนาญในวิชาใดวิชาหนึ่ง ด้วยเกรงว่าจะถูกใช้ให้ทำงานฉลองพระเดชพระคุณไปชั่วนาตาปี โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่ประการใดเลย และโดยเหตุที่บรรดาเลกทั้งหลายถูกจ่ายให้ไปทำงานจิปาถะ ทุกคนจึงต้องขวนขวายฝึกปรือตนให้รู้จักทำงานเป็นอย่างโน้นนิดอย่างนี้หน่อยพอให้หลังพ้นหวายเท่านั้น แต่ก็ไม่มีใครอยากทำให้ดีเกินไป เพราะภาระจำยอมต้องกระทำตลอดไปนั้นแลคือบำเหน็จของการทำงานที่มีฝีมือ ชาวสยามจึงไม่รู้งานและไม่ประสงค์ที่จะรู้งานอย่างอื่น นอกจากงานอันตนถูกใช้ให้ทำจำเจอยู่เท่านั้น”
เมื่ออ่านท่อนนี้จบ ใบหน้าแรกที่ผมคิดถึงคือ จีนฮง ตัวละครที่ช่วยทำกระทะหมูกระทะ และเครื่องกรองน้ำให้แม่หญิงการะเกด
หลายครั้ง เราอาจจะลืมไปว่า การเกิดขึ้นและการเติบโตของช่างและธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งหลาย ไม่ได้เกิดขึ้นจากความฝันหรือความขยันของคนผู้นั้นหรือกลุ่มนั้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเกิดจากบริบทและโครงสร้างทางสังคมที่เอื้ออำนวยด้วย
ตามการวิเคราะห์ของลาลูแบร์ ในยุคอยุธยา ความไม่มั่นคงในชีวิต (และทรัพย์สิน) ของผู้คนทำให้ดีมานด์หรือความต้องการงานช่าง (รวมทั้งผลผลิต/บริการของช่าง) จึงมีไม่มากนัก แต่ยิ่งไปกว่านั้น ความไม่มั่นคงในชีวิตของตัวช่างเอง (จากการถูกบังคับเกณฑ์แรงงาน 6 ปี) ยังบั่นทอนความมุ่งมั่นในการพัฒนางานช่างอีกด้วย
แต่เนื่องจากจีนฮง ไม่ใช่ชาวไทย จีนฮงจึงไม่เป็น “ไพร่” และไม่จำเป็นต้องเกณฑ์แรงงาน (แต่ต้องจ่ายเป็นส่วยรายปีแทน) และนั่นก็เป็นโอกาสสำคัญของจีนฮงในการสตาร์ทอัพ รับงานอิสระ เพื่อสั่งสมทักษะฝีมือ สั่งสมประสบการณ์ สั่งสมความไว้วางใจของลูกค้า ซึ่งทั้งหมดนั่นจะมีผลต่อความเติบโตของกิจการของจีนฮง ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
(มีต่อ)