คิดว่าคนไทยอยากจะเป็นแบบพันท้ายนรสิงห์ หรือ ศรีธนญชัย มากกว่ากัน?
ลองพิจารณาถึงเรื่องเล่าซึ่งใช้ให้คำสอนบางอย่าง
ทุกประเทศย่อมมีเรื่องเล่าประเภทนี้ เป็นตำนานวีรบุรุษซึ่งใช้สอนใจ เรื่องเล่าพวกนี้ติดเป็นวาทกรรมซึ่งสร้างระบบความคิด การมองโลก การตัดสินใจ ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมต่างๆของคนในสังคมโดยไม่รู้ตัว
เรื่องเล่าสอนใจแบบพื้นฐานมีลักษณะเรียบง่ายคือ มีตัวอย่างที่ไม่ดี ทำบางอย่างที่ไม่ดี และได้ผลที่ไม่ดีตามมา ส่วนตัวอย่างที่ดี ทำเรื่องดี และได้ผลดีตามมา
แต่พันท้ายนรสิงห์ เป็นเรื่องเล่าที่ซับซ้อนกว่า คือไม่อยู่ในโครงสร้างง่ายๆ ที่ทำดีแล้วได้ดี
พันท้ายนรสิงห์เป็นเรื่องของคนคัดท้ายเรือพระที่นั่ง (ทำหน้าที่หักเลี้ยวเรือ) ปรากฎว่ากระแสน้ำเชี่ยวมาก พันท้ายนรสิงห์แก้ไขได้ แต่ตัวหัวเรือกระแทกกิ่งไม้จนหัก ตกลงน้ำ
โทษนี้คือต้องถูกประหารด้วยการตัดคอ
ในเรื่องกษัตริย์คือพระเจ้าเสือมีพระเมตตา รับสั่งยกโทษ
แต่พันท้ายนรสิงห์ยืนยันให้ลงโทษ เพราะกฎหมายจะต้องเป็นกฎหมาย พระเจ้าเสือจึงสั่งให้ทำรูปปั่นมาตัดคอแทน
แต่พันท้ายนรสิงห์ยังยืนยันให้ลงโทษอยู่ เขาไม่ยอมรับการเล่นลิ้นเพื่อให้ตัวเองรอด พระเจ้าเสือจึงจำใจลงโทษ
พันท้ายนรสิงห์จึงได้รับการยกย่องว่าสัตย์ซื่อจริงๆ
เรื่องเล่าที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงคือ ศรีธนญชัย
มีเรื่องที่ ศรีธนญชัย ทำผิดประจำ ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งกษัตริย์เตรียมทัพไปรบ และสั่งให้ขุนนางทุกคน "มาก่อนไก่" (คือก่อนไก่ขัน)
ศรีธนญชัยไม่อยากไปรบ ก็เลยนอนยาว
พอกษัตริย์กลับมาถามว่า ศรีธนญชัยทำไมไม่มา ปรากฎว่าศรีธนญชัย ก็จูงไก่ตามมาเข้าเฝ้า แล้วบอกว่า "พระองค์สั่งให้มาก่อนไก่ ข้าก็มาตามรับสั่งแล้ว"
ตอนจบของศรีธนญชัย ในเรื่องราวเหล่านี้คือ กษัตริย์ทำอะไรไม่ได้บ้าง พอใจในปัญญาบ้าง ที่แน่ๆ ศรีธนญชัยก็รุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ (จนมีผู้ที่มีปัญญามากกว่ามาปราบในตอนจบ)
ลองคิดว่าถ้าเป็นเรา ทำหัวเรือหักเนี่ย จะยอมตาย หรือเล่นลิ้นเอาชีวิตรอด?
สังเกตว่า คนซื่อสัตย์ตาย คนตลบตะแลงได้ดี
น่าสงสัยว่าคนซื่อสัตย์คงยอมตายแบบพันท้ายนรสิงห์หมดแล้ว พวกข้าราชการในเรื่องพวกนี้จะเต็มไปด้วยคนแบบศรีธนญชัย หรือเปล่า?
.
.
.
คำถามคือ แล้วจะให้ทำยังไงล่ะ? ก็กฎหมายระบุไว้แบบนั้น เราควรจะทำตามกฎหมายแบบพันท้ายนรสิงห์ไม่ใช่เหรอ?
ในวิธีคิดแบบไทย เราเจอปัญหาแบบนี้บ่อยมาก ที่พูดกันว่า "กฎหมายมันเป็นแบบนี้จะให้ทำยังไง เราต้องทำตามกฎหมาย"
ในเรื่องนี้ พันท้ายนรสิงห์ ทำตามกฎหมาย กษัตริย์ก็มีเมตตาแล้ว แต่ก็ทำตามกฎหมาย ไม่มีใครเลยที่ผิด แล้วโศกนาฏกรรมที่ทำให้เราเสียคนดีแบบนี้ไปคืออะไร?
คนไทยมักจะมองเห็นแต่ตัวบุคคล แต่ไม่คิดว่าตัวระบบผิด
ในเรื่องนี้กฎหมายที่บอกว่าคนพลาดถึงโทษประหารต่างหากที่ผิด
คนเก่ง คนดี ทำหัวเรือหัก ควรตายแล้วเหรอ? เป็นบทลงโทษที่รุนแรงเกินไปหรือไม่?
กฎหมายนี้มาจากไหน เป็นทำเนียมจารีตที่ยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์หรือเปล่า?
เรื่องเล่านี้ถ้าไม่ใช่เรื่องเล่าของไทยอาจจะจบว่า
"พันท้ายนรสิงห์ถูกประหาร แต่กษัตริย์เสียใจจึงพิจารณาว่ากฎหมายนี้ไม่เป็นธรรม และสั่งให้ยกเลิกไป ผู้คนทั้งหลายจึงสร้างอะไรสักอย่างไว้ท้ายเรือเพื่อละลึกถึงพันท้ายนรสิงห์"
ในคราวหน้าถ้ามีคนผิดพลาดด้วยเหตุสุดวิสัย แต่ซื่อสัตย์ยอมรับผิดเช่นนี้อีก เขาอาจจะถูกโบยตามโทษ แล้วเลื่อนไปรับตำแหน่งที่สำคัญกว่าเพราะความซื่อสัตย์นี้ภายหลัง
แต่ พันท้ายนรสิงห์ จบว่า ทำศาลไว้บูชา และกฎหมายก็ยังอยู่เหมือนเดิม
กฎหมายที่เคร่งครัดอย่างไร้เหตุผล และไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้คนกลายเป็นศรีธนญชัย กฎหมายประเภทนี้ประหารคนดี แต่ทำให้คนหัวหมอเข้านายเก่งเจริญก้าวหน้า
#มิตรสหายท่านหนึ่ง