= ข้อสอบคณิตศาสตร์แบบไทยๆ .. สร้างชาติ หรือทำลายชาติ? =
เมื่อประมาณปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถิติการสอบ PAT1 (Professional Aptitude Test 1 : Mathematics) ของเด็กไทยเพื่อนำไปวิเคราะห์ให้เด็กๆนักเรียนแถวบ้านได้เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย หลังจากการนำข้อมูลที่ประกาศโดย สทศ. มาคำนวณเล็กๆน้อยๆ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าการแจกแจงคะแนนของเด็กจำนวนมากนี้ มีการแจกแจงใกล้เคียงกับการแจกแจงแบบปกติ(Normal Distribution) ผมได้พบสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ
"เด็กไทยที่ทำคะแนนสอบได้ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง คือต่ำกว่า 150 จาก 300 คะแนน มีพื้นที่ใต้โค้งปกติมาตรฐานเป็น 0.999988" ... !!!!
(สถิติ PAT1 ปี 2560 : ค่าเฉลี่ยประชากรของคะแนนอยู่ที่ 42.82 คะแนน และมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของประชากรมีค่า 25.34 คะแนน )
มันแปลว่าอะไรครับ มันแปลว่า เด็กไทยที่ทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ PAT1 ได้เกิน 150 คะแนนนั้น คิดเป็นประมาณแค่ 0.0012% ของทั้งหมด ...
ซึ่งผลสถิตินี้แสดงความหมายสื่อออกไปได้ 2 ทาง คือ ครูสอนคณิตศาสตร์ในประเทศไทยทั้งหมดสอนได้ห่วยแตกมาก ... หรือ ข้อสอบที่ใช้ทดสอบนั้น มีความยากจนไม่สามารถวัดอะไรได้เลย
จากการที่ได้พูดคุยกับ อ.แดง (อ.ประสพ ธงธวัช) อดีตอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีผู้เกษียณอายุราชการแล้ว และมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ของฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่ใช้จริงๆในระดับวิศวกรรมศาสตร์ ท่านได้กล่าวถึงว่าคณิตศาสตร์แบบนี้ว่า เป็นคณิตศาสตร์ทำลายชาติ หรือที่ท่านชอบใช้คำเรียกสั้นๆ(แบบที่คนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจท่าน) ว่าเป็น "ทริคแมท" (Trick Math) ซึ่งโดยส่วนตัวหลังจากได้พูดคุยกับท่านเป็นการส่วนตัวหลายครั้ง ยิ่งเห็นด้วยกับความคิดของท่าน
- "ทริคแมท" ของอ.แดงหมายถึงอะไร -
หมายถึง ข้อสอบคณิตศาสตร์ที่เอาเนื้อหาคณิตศาสตร์ต่างๆ มายำเพิ่มความยากโดยการวกไปวนมาแบบที่จะไม่มีทางเจอได้จริงในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน (แม้กระทั่งในฟิสิกส์ระดับสูงก็ตาม) เป็นเหมือนของเล่นสนุกๆของคนเก่งคณิตศาสตร์จะมานั่งแก้กัน คนที่เชี่ยวชาญ ที่ฝึกฝนมาอย่างดีหรือผ่านโจทย์มามากๆเท่านั้น ที่จะสามารถทำมันได้เพราะมองหรือจัดรูปออกด้วยประสบการณ์ที่เชี่ยวกรำ...
แล้วมันไม่ดีอย่างไร .... ผมได้ข้อสรุป(ในความเห็นของตนเอง)ว่ามันไม่ดีตรงที่ มันไม่ควรนำมาใช้ออกเป็นข้อสอบเพื่อวัดผลเด็กเข้ามหาวิทยาลัย เพราะข้อสอบประเภทนี้มีอำนาจการจำแนกต่ำ คือไม่สามารถจำแนกเด็กที่เก่งมาก เก่ง ปานกลาง ค่อนข้างอ่อน และอ่อนมาก ออกจากกันได้เลย ดูจากสถิติก็จะเห็นได้ชัดว่า สามารถจำแนกได้แค่ "มหาเทพ" กับ "คนปกติ" ออกจากกันเท่านั้น ... ผลที่ได้จึงทำให้เด็กไทยไม่สามารถใช้เพียงความรู้ที่เรียนในห้องเรียนเท่านั้นในการแก้ปัญหาและสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย เป็นการลดคุณค่าของบทบาทการเรียนในห้องเรียน แต่ไปเพิ่มมูลค่าให้กับการติวนอกห้องเรียนมากขึ้น หรือไม่ก็ท้อไปเลยเพราะรู้สึกว่าเรียนให้ตายแค่ไหนก็ทำไม่ได้อยู่ดี...
ผมเชื่อว่า การศึกษาคณิตศาสตร์ไทย จะช่วยสร้างชาติได้ก็ต่อเมื่อข้อสอบนั้นมีความยากในระดับที่พอเหมาะพอดี สามารถจำแนกเด็กออกจากกันได้ (เช่นข้อสอบ SAT ของต่างประเทศ คณิตศาสตร์ไม่ได้ซับซ้อน แต่เขาก็สร้างคนเก่งๆออกมาได้มากมาย) และนั่นจึงจะนำไปสู่ความเป็น คณิตศาสตร์สร้างชาติได้อย่างแท้จริงครับ
การใช้ทริคแมทในการทดสอบ เปรียบเหมือนให้คนเรียนขับรถปกติ แล้วไปสอบใบขับขี่โดยให้ไปขึ้นรถ F1 แข่งกันในสนามแข่งรถนั่นแหละครับ ... ถ้าเปรียบง่ายๆ
#คาดหวังว่าวันหนึ่งเด็กไทยจะเลิกกลัวเลข #เมื่อเราเลิกทำให้ทริคแมทเป็นสิ่งที่จำเป็น #เพราะมันไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจริง
#มิตรสหายท่านหนึ่ง