ศาสนจักรยูเครนเป็นอิสระแล้ว....
...ไงต่อ? จบแล้วเหรอ?
อย่างที่หลายท่านทราบแล้วว่า ศาสนจักรยูเครนออร์โธด็อกซ์ที่เกิดจากการรวมศาสนจักร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับจากพระอัยกาบาร์โธโลมิวแห่งคอนสแตนติโนเปิลเรียบร้อยแล้ว หลังเซ็นเอกสารรับรองเมื่อวานนี้
ต่อจากนี้เป็นต้นไป ศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ในยูเครนจะเหลือเพียง 2 สายหลัก นั่นคือ ศาสนจักรออร์โธด็อกซ์แห่งยูเครน (Orthodox Church of Ukraine - OCU) กับ ยูเครนออร์โธด็อกซ์ - เขตพระอัยกามอสโคว์ (Ukrainian Orthodox Church - Moscow Patriarchate - UOC-MP) ที่ยังคงขึ้นกับมอสโคว์ต่อไป ไม่มารวมศาสนจักรด้วยกัน
หากท่านมีคำถามในใจว่า "แล้วจากนี้มันจะเป็นยังไงต่อ?" ส่วนตัวผมก็คิดว่ามีต่อแน่ๆครับ มันยังไม่จบหรอก
เพราะแม้ศาสนจักรใหม่มีคอนสแตนติโนเปิลรับรองอยู่ แต่เนื่องด้วยโครงสร้างนิกายที่ไม่เหมือนคาทอลิก ซึ่งมีพระสันตะปาปาเป็นผู้นำปกครองสูงสุด พระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิลเป็นพียงผู้อาวุโสสุดเท่านั้น
ดังนั้นการที่ท่านยอมรับ ไม่ได้แปลว่าศาสนจักรออร์โธด็อกซ์อื่นอีก 14 แห่งที่ปกครองอิสระ อย่างเซอร์เบีย จอร์เจีย บัลแกเรีย หรือโรมาเนียจะยอมรับ ต้องดูต่อไปยาวๆว่าพวกเขาจะยอมรับหรือไม่ แต่รัสเซียนี่คงไม่ต้องพูดถึงหรอก ผมว่ากี่ร้อยกี่พันปีก็ไม่ยอมรับอยู่แล้ว เชื่อว่ายังคงยอมรับแต่ศาสนจักรยูเครนที่ขึ้นกับตนเท่านั้นล่ะ
เรื่องที่ยังต้องพูดคุยกันต่อไปคือศาสนจักรยูเครนในต่างประเทศครับ อย่างในอเมริกาและแคนาดา ทั้งสองศาสนจักรมีคอนสแตนติโนเปิลปกครองดูแลอยู่ ทำให้เมื่อตั้งศาสนจักรของตนเองบนแผ่นดินแม่ได้แล้ว ก็ต้องมานั่งคุยกันอีกทีว่าจะเอายังไงต่อไปกับศาสนจักรเหล่านั้น
อีกทั้งการที่มีศาสนจักรยูเครนออร์โธด็อกซ์ถึงสองแห่ง ที่ล้วนแล้วแต่มีคนยอมรับด้วยกันทั้งคู่ (ฝั่งหนึ่งมอสโคว์ ฝั่งหนึ่งคอนสแตนติโนเปิล) อยู่แบบนี้ ปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินโบสถ์ตามมาอย่างแน่นอน ว่าโบสถ์นี้ อารามนั้น จะต้องเป็นของใคร ซึ่งเอาจริงๆ เขาก็ตีกันเรื่องนี้มานานแล้วล่ะ เช่นเดียวกันกับศาสนจักรยูเครนกรีกคาทอลิก
แต่มันมีสิ่งหนึ่งครับ ที่อาจทำให้มันบานปลายกว่าเดิม...
...สิ่งนั้นคือ "แนวคิดศาสนชนชาตินิยม" (ethnophyletism) ที่เชื่อว่าชนชาติตนต้องผูกกับศาสนจักรนี้เท่านั้น เป็นชาตินิยมสุดโต่งรูปแบบหนึ่ง จริงๆ แล้วเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับนิกายเขาเลยล่ะ ไม่ใช่แค่ที่อาจเกิดขึ้นกับยูเครน เพราะโครงสร้างที่ไม่มีผู้ปกครองสูงสุดคอยคุมเชิงนั่นเอง ปัญหานี้จึงเกิดได้ง่าย
เรื่องนี้รัสเซียมักกล่าวหาศาสนจักรยูเครนมาโดยตลอด ว่าศาสนจักรเกิดใหม่เป็นเครื่องมือให้รัฐใช้ข่มเหงศาสนจักรที่ขึ้นกับมอสโคว์ โดยมีแนวคิดชาตินิยมยูเครนสุดโต่งเข้ามามีส่วน ซึ่งพวกเขาก็ต้องระวังไม่ให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และสร้างปัญหาให้พวกเขาต้องมาตามแก้
แล้วมันเป็นปัญหายังไง? ก็เพราะมันจะส่งผลให้ชาวยูเครนบางคนมองว่า ผู้ที่ยังคงอยู่กับมอสโคว์ต่อไปเป็น "ผู้ทรยศ" ทำให้มีความต้องการ ให้รัฐบาลใช้กำลังเข้ายึดครองศาสนสถานสำคัญๆ ที่ฝั่งมอสโคว์ครองอยู่ เช่น อารามถ้ำแห่งเคียฟ (Kiev Lavra)
ซึ่งก็หวังว่าถ้ามันหนักเข้าจริง รัฐบาลจะไม่บ้าจี้ตามเขานะ เพราะมันจะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้ฝั่งรัสเซียและทำให้สิ่งที่รัสเซียกล่าวหายูเครนมาโดยตลอดเป็นความจริง
ทั้งนี้ ก็ต้องดูกันว่าจะยังคงรักษาสัญญาที่บอกว่าจะไม่มีการบังคับใครให้มารวมศาสนจักรจริงหรือไม่ จะไม่ใช้ศาสนจักรเกิดใหม่เป็นเครื่องมือในการปกครอง เหมือนที่รัสเซียทำ(และกำลังกล่าวหายูเครน)หรือเปล่า
รวมถึงต้องดูคำประกาศของสังฆราชมหานครเอพิฟานี ผู้นำศาสนจักรออร์โธด็อกซ์แห่งยูเครน ที่บอกว่าศาสนจักรใหม่เปิดต้อนรับทุกคนด้วย ว่าจะเป็นตามนี้จริงในภายภาคหน้าหรือไม่
ส่วนมอสโคว์ที่ประกาศตัดสัมพันธ์กับคอนสแตนติโนเปิลไปเมื่อปลายปีที่แล้ว หากสุดท้าย ทั้งสองศาสนจักรในยูเครนกลายเป็นมิตรกัน และอยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข ไม่มีอะไรต้องกังวล พระอัยกาคีริลแกจะกลับมาคืนดีกับพระอัยกาบาร์โธโลมิวหรือเปล่า? เรื่องนี้สำหรับผมก็ยากแท้หยั่งถึง เผลอๆ อาจหนักกว่าเดิมด้วยการออกหมายบัพพาชนียกรรม อันเป็นการตัดขาดโดยสมบูรณ์
เพราะทางมอสโคว์เคยตัดขาดแบบนี้มาแล้วตอนปี 1996 กรณีศาสนจักรในเอสโตเนีย แต่ครั้งนั้น ศาสนเภทเกิดขึ้นแค่ช่วงสั้นๆ แปปเดียวก็กลับมาคืนดีกัน กรณียูเครนอาจยาวกว่านั้นมาก เพราะมันมีเรื่องการเมืองมาพัวพันเยอะ
สรุปคือยังไม่จบ ต้องดูกันไปยาวๆครับ
แม้กระนั้น การรวมศาสนจักรแบบนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ผมก็ขอแสดงความยินดีกับชาวยูเครนมา ณ ที่นี้ด้วย ขอพระเจ้าอวยพร และหวังว่ารอยร้าวในนิกายจะผสานกันโดยเร็ว
#มิตรสหายท่านหนึ่ง