จากบทความก่อนหน้านี้ได้เขียนไว้ว่า “การโจมตีในเกมหมากล้อมอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยน”
จึงขออธิบายกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น เราอาจเคยได้ยินคนพูดกันว่า “กลัวโดนหลอกใช้” ถ้าเป็นเมื่อก่อนตนเองก็คงรู้สึกไปกับคำกล่าวนี้อยู่บ้าง แต่เมื่อได้เรียนรู้หลักธรรมชาติจากหมากล้อมมากขึ้น กลับรู้สึกเฉย ๆ คงเพราะในความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้ ถึงแม้จะโดนข่มขู่ เราก็ยังเป็นคนเลือกอยู่ดีว่าจะทำหรือไม่ทำ หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าเราจะตัดสินใจอย่างไร ย่อมได้อะไรกลับมาเสมอ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นประสบการณ์ ที่ช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติ จนในที่สุดไม่สนใจว่าจะได้อะไรกลับมาเป็นการแลกเปลี่ยน เพียงพยายามทำให้ดีที่สุด
ด้วยเหตุนี้จึง “ไม่กล่าวโทษผู้อื่น แต่เป็นการเร่งพัฒนาตนเอง” ถึงแม้จะรู้ว่าทุกคนไม่ได้สมบูรณ์แบบ และการตักเตือนก็เป็นสิ่งจำเป็น ในเมื่อเรามีพื้นฐานในเรื่องเหล่านั้น แต่ก็ไม่ควรใช้การตัดสินหรือยัดเยียดความคิดของตนเองต่อผู้อื่น เพราะถ้าเรามีข้อมูลไม่เพียงพอหรือคิดผิดย่อมเป็นเรื่องที่อันตราย โดยเฉพาะเขาไม่รู้จักการเปลี่ยนแปลงพลังงานให้เป็นประโยชน์ในภาพรวม ด้วยเหตุนี้การเร่งพัฒนาตนเองจึงสำคัญที่สุด
หากไม่รู้จริงก็เป็นเพียงการมองที่ “ปลายเท้า” เหมือนกับที่ ขงจื๊อทราบว่าลูกศิษย์เป็นคนใจร้อน หลังจากขอลากลับบ้านเกิด จึงกำชับไว้ว่า “จงพิจารณาเหตุการณ์ให้ดีเสียก่อน” เมื่อเดินทางถึงบ้านเกิดในช่วงค่ำ จึงรีบเปิดประตูเข้าห้องนอนไปหาภรรยา แต่กลับเห็นปลายเท้าของคน 2 คน นอนอยู่ด้วยกัน จึงบังเกิดโทสะหมายจะฆ่าเสียทั้งคู่ แต่นึกได้ถึงคำอาจารย์ รีบจุดไฟและดึงผ้าห่มออก จึงรู้ว่าภรรยาพาน้องสาวมานอนด้วยเท่านั้นเอง
ในโลกของหมากล้อมเป็นการก้าวข้ามความกลัวไม่ว่าจะ กลัวแพ้ กลัวเดินพลาด กลัวไม่ระวัง กลัวจากความไม่รู้ เมื่อโดนกระทบแต่ละคนก็เรียนรู้ที่จะแสดงออกแตกต่างกันไป ซึ่งก็เป็นธรรมดา บางคนโชคดีไม่สนใจในเรื่องเหล่านี้ แต่ใครที่ใส่ใจและฝึกรับมืออยู่เป็นประจำย่อมได้ประโยชน์มากที่สุด ที่สำคัญพื้นฐานหมากล้อมเป็นการแข่งกันสร้าง สร้างความมั่นคง สร้างโอกาส สร้างอนาคต และไม่มีใครได้ทุกอย่าง ถึงแม้การโจมตีจะมีคนได้ผลประโยชน์มากกว่า แต่ถ้าเปิดใจมองกว้าง ๆ ในด้านอื่นที่นอกเหนือจากผลแพ้ชนะก็ยังมีสิ่งอื่น อย่างเช่น มิตรภาพ หรือการควบคุมอารมณ์ ที่ช่วยให้ตั้งสติและมีสมาธิได้รวดเร็วขึ้น
แต่เมื่อไรก็ตาม ที่เราเผลอยึดติดในอัตตาหรือหลงไปกลับความรู้สึกแล้ว นอกจากจะลดโอกาสชนะในเกม ยังทำลายผลประโยชน์ในด้านอื่นด้วย ทั้งนี้ก็ควรระวังการสับสนระหว่างการทุ่มเทไปในด้านใดด้านหนึ่ง อันเนื่องมาจากเราเห็นว่าผลประโยชน์ในด้านอื่นนั้นสำคัญน้อยกว่า แต่ถ้าเมื่อไรเราทุ่มเทจนเป้าหมายต่างหากที่อันตราย
การตัดสินใจที่พลาดพลั้งบนเกมหมากล้อม นักหมากล้อมที่ดีจะลืมความผิดพลาดเหล่านั้นไปก่อน แต่จะคิดถึงปัจจุบันขณะว่าจะแก้ไข หรือมีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากความผิดพลาดหรือไม่ เมื่อจบเกมจึงค่อยพิจารณาถึงความผิดพลาดของหมากตนเองก่อนเสมอ หากมีเวลาก็จะนำเกมที่เล่นมาเรียงใหม่ เพื่อย้อนดูความผิดพลาดของทั้งสองฝ่าย เพราะในเกมหมากล้อมไม่มีใครที่ไม่ผิดพลาด โดยผู้ที่ผิดพลาดน้อยกว่าจะได้รับชัยชนะ ทั้งนี้การพิจารณาความผิดพลาดของอีกฝ่าย ท้ายที่สุดแล้วก็เพื่อพัฒนาตนเอง เพราะถ้าเขาเดินได้อย่างเหมาะสมแล้วเราควรจะรับมืออย่างไร
อย่างลืมว่าความผิดพลาดอาจจะเรียกอีกอย่างว่า “ดีน้อยไป” ก็ได้ เพราะหมากทุกหมากล้วนเกิดมาจากเหตุผล
“ยิ่งยึดมั่นถือมั่นเท่าไร ยิ่งรู้สึกถึงการสูญเสีย”
ซีเอ็ม.โกะ (2018/12/30)
อ้างอิงบทความครั้งก่อน
facebook.com/CmGoClub/photos/a.2048578358513902/2080140522024352