“ตลอดระยะเวลาที่ตรวจผู้ป่วยจิตเวชเด็กที่มาด้วยเรื่องกังวล ซึมเศร้า จะพบลักษณะที่คล้ายๆกันของผู้เลี้ยงดู
เด็กมักจะมาด้วยการไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ตำหนิตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลย มีแต่ข้อเสียเต็มไปหมด
หลายเหตุการณ์จะคล้ายกับบทสนทนาที่จะเล่าต่อไปนี้
ผม : เท่าที่ผมฟังน้องคงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าอะไร น้องคิดว่าตัวน้องไม่มีอะไรดีเลยใช่ไหม ผมอยากทราบความเห็นจากคุณแม่ ว่าจริงๆแล้วน้องไม่มีอะไรดีอย่างที่น้องคิดไหม
แม่ : เขาเป็นยังงั้นจริงๆแหละหมอ ไม่ค่อยเอาไหน ขี้เกียจ
ผม : ตอนอยู่บ้านคุณแม่ก็พูดกับน้องประมาณนี้รึเปล่าครับ
แม่ : ...
ผม : บางทีคำถามผมในตอนแรกมันยากไป เปลี่ยนเป็นถามง่ายๆว่า "แม่คิดว่าลูกตัวเองมีอะไรดีบ้าง"
แม่ : ก็.... มันไม่มีเลยจริงๆ เฉื่อย ขี้เกียจ เก็บตัว ไม่มีเพื่อน
ผม : แม่แน่ใจหรอว่า ไม่มีจริงๆ ไม่ใช่ว่าแม่มองไม่เห็น ผมเพิ่งรู้จักน้องไม่นาน ผมยังเห็นเลย
แม่ : ....
ผม : ลูกแม่ไปโรงเรียนทุกวันไหม
แม่ : ไป
ผม : ลูกแม่เคยใช้ยาเสพติดอะไรสักอย่างไหม
แม่ : ไม่
ผม : ลูกแม่ช่วยงานบ้านไหม
แม่ : ช่วย
ผม : ที่ผมพูดทั้งหมดนี้ เป็นความดีที่น้องเขาทำไหม
แม่ : ใช่
ผม : ถ้ายังงั้น แม่ลองชมลูกให้หมอฟังหน่อยซิ่
แม่ : ชมยังไงอ่ะหมอ
ผม : ....(เริ่มหงุดหงิด แต่ก็ต้องเข้าใจว่ามันคือสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคย)
ผม : งั้นแม่พูดตามหมอนะ "แม่ภูมิใจมากนะ ที่ลูกเป็นเด็กดี ลูกขยันไปโรงเรียน และชอบช่วยงานบ้าน"
แม่ : "แม่ภูมิใจมากนะ ที่ลูกเป็นเด็กดี ลูกขยันไปโรงเรียน และชอบช่วยงานบ้าน"
ลูก : (ยิ้มเป็นครั้งแรกในรอบปี)
การเห็นคุณค่าของเด็กๆเป็นของขวัญที่มีค่ามากจากผู้ใหญ่ เพราะมันจะไปสร้างความมั่นใจให้กับเด็กว่า "ตัวเขามีค่าจริงๆ"”
#มิตรสหายท่านหนึ่ง