เลือกตั้งคราวนี้ ประชาชนต้องตื่นตัวมากกว่าครั้งอื่น ๆ ที่ผ่านมา เพราะมีการปรับกฏ กติกา ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนค่อนข้างเยอะ มาอธิบายให้ง่าย ๆ ดังนี้
- เขตเลือกตั้งคนละเขตคนละเบอร์ : ถ้าตามทะเบียนบ้านเราอยู่เขตเลือกตั้งไหน เราต้องดูเบอร์ของผู้สมัครเขตเลือกตั้งนั้น ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดี ๆ เพราะในบัตรเลือกตั้งมีแนวโน้มสูงที่จะไม่มีชื่อพรรค (และอาจจะไม่มีชื่่อผู้สมัครเลยก็ได้) อาจจะมีแต่เบอร์ ประชาชนต้องติดตามข้อมูลข่าวสารให้ดี ๆ ไม่งั้นอาจกาผิดเบอร์ได้โดยไม่รู้ตัว
- พอมันเป็นเขตเลือกตั้งคนละเบอร์ ก็เป็นความท้าทายของ กกต. ที่จะต้องระบุในบัตรให้ชัดเจนว่า บัตรเลือกตั้งนี้ลงคะแนนในเขตไหน เพราะเมื่อคนละเขตคนละเบอร์แล้ว ก็ต้องมีวิธีการนับคะแนนเลือกตั้ง 350 แบบ ซึ่งอาจส่งผลต่อหลัก secret ballot เวลาออกเสียงนอกจังหวัดหรือนอกประเทศที่คนน้อย ๆ ได้ (เพราะมันต้องแยกกอง ยิ่งนอกประเทศอาจจะมีแค่คนเดียวที่มาจากเขตเลือกตั้งนี้ก็ได้)
- ระบบสัดส่วนผสมแบบใช้บัตรใบเดียว (ในไทยตั้งชื่อว่าจัดสรรปันส่วนผสม) อันนี้คนอธิบายมากแล้ว แต่ง่าย ๆ ก็คือว่า ประชาชนออกเสียง 1 คะแนนให้ผู้สมัครเขต แต่เอาคะแนนรวมของผู้สมัครเขตที่สังกัดพรรคการเมืองนั้นทั่วประเทศมาคิดเป็นร้อยละของที่นั่งที่พึงได้ ขาดเหลือเท่าไหร่เอาผู้สมัครบัญชีรายชื่อไปเพิ่มเติมเท่านั้น
- จากระบบเลือกตั้งดังกล่าว ทำให้ประชาชนต้องประเมินดี ๆ ว่าเขตนี้ควรเลือกพรรคใด เพราะหลายกลุ่มการเมือง (faction) มีการใช้กลยุทธ์ "แตกแบ๊งพันเป็นแบ๊งร้อย" เพื่อให้ได้ที่นั่งพึงประเมินรวมแล้วมากกว่าพรรคเดียว ประชาชนต้องดูดี ๆ ว่าเลือกพรรคนี้ในเขตเราแล้วใครได้ประโยชน์ อยากให้กลุ่มสุเทพได้ต้องเลือกพรรคไหน อยากให้ประยุทธ์เป็นนายกต่อต้องเลือกพรรคไหนในเขตเรา ฯลฯ ต่างจากเดิมแน่นอนที่อยากให้ใครได้ที่นั่งในสภาเยอะสุด ก็กาพรรคนั้น ต่อจากนี้ภายใต้ระบบเลือกตั้งนี้อาจไม่ใช่อีกต่อไป
- ซึ่งไอ่เขตเลือกตั้งคนละเขตคนละเบอร์ เอาเข้าจริง ๆ น่าจะมีเจตนาให้เกิดความไม่เข้มแข็งของพรรคการเมือง เน้นที่ตัวบุคคลผู้สมัครเขตมากขึ้น แต่ก็ลักลั่นกับระบบสัดส่วนผสมแบบใช้บัตรใบเดียวที่เอาคะแนนของผู้สมัครเขตมาคิดที่นั่งที่พึงได้ของพรรคการเมือง เพราะผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อต้องอาศัยคะแนนของผู้สมัครเขต (สรุปคือไม่แฟร์กับผู้สมัครบัญชีรายชื่ออย่างมาก จะหาเสียงของตัวเองก็ยากเพราะคนละเขตคนละเบอร์)
- เรื่องเขตเลือกตั้งเองก็สำคัญ คราวนี้มีการปรับเขตเลือกตั้ง (อีกแล้ว) จากปี 54, 57 ต้องดูให้ดีว่าตนสังกัดอยู่เขตอะไรกันแน่ บางจังหวัดแบ่งเขตคล้าย gerrymandering เช่น นครราชสีมา ต้องดูดี ๆ ว่าตนอยู่เขตอะไร
- เรื่องวุฒิสภามีส่วนร่วมในการเลือกนายก : วุฒิสภามาจาก คสช. แต่งตั้ง 244+6 คนทหาร รวมเป็น 250 มีส่วนร่วมในการเลือกนายก อันนี้อาจต้องรอดูกระแสและท่าทีว่าคนกลุ่มนี้จะสนับสนุนใคร อาจเป็นพลเอกประยุทธ์หรือท่านอื่นก็ได้ (ความไม่แน่นอนมันก็มี) ประเด็นนี้ อ.ประจักษ์เองก็บอกว่าไม่ควรไปคาดการณ์ล่วงหน้าว่าคนกลุ่มนี้จะเลือกพลเอกประยุทธ์ อาจเลือกท่านอื่น อะไรเช่นนี้ก็ได้
- สุดท้าย วันที่ 4 ม.ค. กกต. จะออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง จำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัด และเขตเลือกตั้งแบบเป็นทางการ ต้องติดตามกันตอนนั้นอีกครั้ง และมันเป็นวันเกิดเราด้วย (บอกไว้สำหรับคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ 555 ขอบคุณมากค่า) :p