พิธีแต่งงานในจีนไม่ได้เป็นแค่งานแต่ง แต่คือช่องทางไหลออกของเงินนับแสนที่ฝ่ายชายจำต้องจ่าย รัฐบาลจีนจึงประกาศยุติการแต่งงานราคาแพง โดยขอให้ย้อนระลึกถึงคุณค่าที่แท้จริงของงานแต่งงาน
.
หลังจากการควบคุมประชากรด้วยนโยบายลูกคนเดียวมานานหลายสิบปี ทำให้ปัจจุบันจีนมีประชากรชายมากกว่าหญิงถึง 30 ล้านคน ซึ่งจำนวนที่ไม่สมดุลนี้นำมาสู่การเพิ่มขึ้นอย่างที่เรียกได้ว่าพุ่งทะยานของสินสอดและค่าจัดงานแต่งงาน โดยปัจจุบันสินสอดของเจ้าสาวในแถบชนบทของจีนมากกว่ารายได้ตลอดทั้งปีของฝ่ายเจ้าบ่าว เท่านั้นยังไม่พอ ฝ่ายเจ้าสาวยังสามารถเรียกร้องทรัพย์สินอื่นๆ สำหรับสินสอดอย่างเครื่องเพชร รถยนต์ หรือบ้านได้อีกด้วย
.
เพราะการพุ่งทะยานที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดของค่าใช้จ่ายในพิธีแต่งงาน ทำให้รัฐบาลจีนตัดสินใจออกมาตรการยุติการแต่งงานราคาแพงในประเทศ ครอบคลุมทั้งงานแต่งงานหรูหราและสินสอดราคาแพง โดยรัฐบาลเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการแต่งงานด้วยเหตุผลว่า งานแต่งงานควรสะท้อนค่านิยมและวัตถุประสงค์ที่งดงามที่เคยมีมาในประเทศ และการเพิ่มขึ้นของความฟุ่มเฟือยในงานแต่งคือ การอาละวาดของลัทธิบูชาเงิน
.
เป้าหมายของการปฏิรูปงานแต่งงานครั้งนี้ มุ่งเป้าไปยังพื้นที่แถบชนบทของจีน ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าใช้จ่ายในพิธีแต่งงาน ตัวอย่างเช่น ในหมู่บ้านเกษตรกรรม Da'anliu จังหวัด Hubei ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีรายได้ประมาณ 20,000 หยวนต่อปี มีสินสอดเฉลี่ยของหญิงสาวในหมู่บ้านมากกว่า 200,000 หยวน ก่อนที่ทางรัฐบาลจะออกกฎห้ามสินสอดมากกว่า 20,000 หยวน มิฉะนั้นจะเข้าข่ายค้ามนุษย์
.
นอกจากนั้น ถ้าหากว่าทั้งครอบครัวของบ่าวสาวมีสถานะทางสังคมที่พิเศษ สินสอดก็อาจจะมีความพิเศษมากยิ่งขึ้นไปอีก อาทิ ในมณฑลซานตงมีบางครอบครัวต้องใช้ชุดต่างหูทองและสร้อยทองมูลค่า 150,050 หยวน พร้อมทั้งมอบแบงค์ 5 หยวน 10,000 ใบและแบงค์ 100 หยวน 1,000 ฉบับ และทรัพย์สินเพิ่มเติมอื่นๆ เพื่อเป็นสินสอดให้แก่เจ้าสาว
.
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของแต่ละมณฑลได้มีความพยายามที่จะควบคุมสินสอดและค่าจัดงานแต่งงาน โดนในปีนี้เขต Huzhu ในจังหวัดชิงไห่ จำกัดวงเงินสูงสุดของสินสอดให้ไม่เกิน 60,000 หยวน จากที่ปกติสินสอดในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ที่ 100,000 หยวน เช่นเดียวกับมณฑลเหอหนานได้ออกข้อบังคับให้งานแต่ง 1 งาน ต้องมีจำนวนแขกไม่เกิน 10 โต๊ะหรือ 200 คน และมูลค่าของขวัญแต่งงานไม่เกิน 60,000 หยวน และไม่อนุญาตให้มอบบ้านหรือรถเป็นของขวัญ
.
ที่ผ่านมามีกรณีข่าวดังที่เกิดจากผลกระทบของสินสอดราคาแพงแล้ว อย่างกรณีที่ชายหนุ่มต้องการแต่งงานกับแฟนสาวที่กำลังตั้งครรภ์ แต่ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าสินสอดได้เพียงพอ ทำให้ฝ่ายพ่อของแฟนสาวไม่อนุญาตให้มีการแต่งงานเกิดขึ้นและบังคับให้ลูกสาวทำแท้ง ซึ่งแม้กรณีดังกล่าวจะไม่สามารถพิสูจน์ได้จริง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงผลอันร้ายแรงที่อาจจะเกิดจากการเรียกร้องสินสอดมูลค่ามหาศาล ยิ่งไปกว่านั้นหลากหลายความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียของจีนยังคงสนับสนุนพ่อของแฟนสาวในเชิงว่าทำถูกต้องแล้วอีกด้วย
.
อีกทั้งมาตรการนี้ยังส่งผลให้หญิงสาวจากชนบทตัดสินใจเดินทางไปทำงานในเมือง เพื่อตามหาผู้ชายที่สามารถให้ ‘สิ่งที่ดีกว่า’ กับพวกเธอได้ และทำให้ผู้ชายในชนบทกลายเป็นกลุ่มชนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างห่อเหี่ยวและไร้โอกาสที่จะมีภรรยาและบุตร ด้านนักวิจัยที่ศึกษากรณีนี้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงประเพณีงานแต่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทเป็นเรื่องยาก โดยแนะนำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเลือกสนับสนุนงานแต่งงานในกลุ่มที่เลือกจัดงานอย่างทรงคุณค่าและมีความหมาย
.
ที่มา
https://www.theguardian.com/world/2018/dec/03/china-calls-for-end-to-expensive-vulgar-wedding-gifts-ban
https://www.bbc.com/news/blogs-trending-35727057
.
ที่มาภาพ: AFP