>>189 https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1064184
ชาฮาร์เสนอแนวคิดว่าแท้จริงแล้วตำนานนาจานั้น ชาวจีนได้รับมาจากทางอินเดีย เนื่องจากลักษณะเด่นของตำนานนาจานั้นพ้องกันกับตัวละครในมหากาพย์สำคัญของอินเดีย นั่นก็คือ มหาภารตะ โดยเฉพาะในส่วนของคัมภีร์ภควัทคีตา โดยนักวิชาการหลายคนเชื่อว่า เทพเด็กของจีนนี้แท้จริงแล้วก็คือ นลกุเวร (Nalakubara of Nalakuvara) ซึ่งเป็นบุตรของท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวรรณ (Kubera or Vaisravana) สำหรับแนวคิดนี้แพร่หลายในหมู่นักวิชาการจีนพอสมควร
ท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณ.
แม้กระทั่งชื่อ “Nezha” ก็ไม่ใช่ภาษาจีน แต่เป็นคำที่แผลงมาจากภาษาสันสกฤตของคำว่า Nalakubara นั่นเอง หลักฐานยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างคำทั้งสองนี้ปรากฏในพระสูตร มหามยุรีวิทยาราชาสูตร (The Great Peacock-Queen Spell) ของพุทธศาสนาในนิกายตันตระ ที่ต้นฉบับภาษาสันสกฤตได้รับการแปลเป็นภาษาจีน โดยในแต่ละช่วงเวลามีการถอดชื่อนี้ออกมาแตกต่างกัน ได้แก่ Naluojiupoluo (ประมาณ ค.ศ.635-713) Naluojubaluo (ประมาณ ค.ศ.705-774) และ Nazhajuwaluo ที่เป็นการถอดเสียงครั้งหลังสุดและเป็นที่มาของ Nezha ในขณะที่คัมภีร์มหามยุรีวิทยาราชาสูตรในภาษาจีนเรียก นลกุเวร สั้นๆ ว่า “Nazha”
ตำนานนาจาของจีนยังรับมาจากอินเดียผ่านทางพุทธศาสนานิกายตันตระ ดังจะเห็นได้จากการที่ภิกษุนาม อโมฆวัชระ (Amoghavajra) มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.705-774 ในสมัยราชวงศ์ถังของจีน ได้กลายมาเป็นหนึ่งในเทพเจ้าของจีน ชาฮาร์จึงเชื่อว่าพุทธศาสนานิกายตันตระเป็นตัวกลางในการนำลัทธิการบูชานลกุเวรจากอินเดียมาสู่การบูชาเทพนาจาในจีน
พระกฤษณะในวัยเยาว์กับนลกุเวรและมณิครีวะ .
จีนรับเอาเรื่องราวของอินเดียเข้ามาสวมทับกับประวัติศาสตร์โบราณของตนเอง กล่าวคือ ท้าวกุเวรถูกระบุว่าเป็นนักรบของจีนนามว่า แม่ทัพหลี่จิ้ง (Li Jing) ที่มีชีวิตอยู่ใน ค.ศ.571-649 ผู้ที่นำกองทัพของราชวงศ์ถัง เข้าพิชิตเอเชียกลางได้สำเร็จ ภายหลังเสียชีวิตเขาได้รับการบูชาประหนึ่งเทพ ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1729) เรื่องราววีรกรรมของแม่ทัพหลี่จิ้งก็ได้กลายเป็นตำนานบอกเล่าและวรรณกรรม ในช่วงเวลานี้เองที่หลี่จิ้งถูกนำไปเชื่อมโยงกับท้าวเวสสุวรรณ โดยระบุว่าเป็นแม่ทัพสวรรค์ ชาฮาร์ยังตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นไปได้ที่แม่ทัพท่านนี้จะเป็นผู้ที่เลื่อมใสในท้าวเวสสุวรรณอย่างมากในเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่ นั่นทำให้ชาวจีน บูชาตัวเขาเป็นตัวแทนของท้าวเวสสุวรรณเสียเอง
เมื่อตามตำนานนาจาเป็นบุตรชายของแม่ทัพหลี่จิ้ง ดังนั้น นาจาย่อมจะต้องเป็นบุตรคนใด คนหนึ่งของท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งท้าวเวสสุวรรณเองมีบุตรชาย 2 คน คือ มณิครีวะ และนลกุเวร ชาฮาร์เชื่อว่าสิ่งที่ทำให้นักวิชาการระบุว่า นาจา คือนลกุเวร นั่นเป็นเพราะด้วยวีรกรรมของนาจานั้นมีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี เขาจึงอยู่ระหว่างสภาวะของเทพ (god) กับมาร (demon) ซึ่งสภาวะดังกล่าวนี้เป็นสภาวะของพวกยักษ์ (yaksha) อันเป็นเผ่าพงศ์ของนลกุเวร ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างนาจากับบิดา ชาฮาร์เปรียบเทียบว่าอาจนำมาจากความขัดแย้งระหว่างนลกุเวรกับลุงของเขาซึ่งก็คือ ทศกัณฐ์ เนื่องจากทศกัณฐ์ได้กระทำการล่วงละเมิดภรรยาของนลกุเวร ทำให้เขาโกรธมากแต่ก็ไม่สามารถต่อกรกับทศกัณฐ์ได้ ซึ่งเรื่องราวตรงนี้อาจไม่สอดคล้องกับปมความขัดแย้งของนาจากับบิดาตามตำนานจีน แต่ชาฮาร์ก็ยังมองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างคนต่างยุคต่างรุ่น (generation conflicts)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตำนานจีนมี แต่มหากาพย์ ทางฝั่งอินเดียขาดหายไปคือ วีรกรรมการฆ่ามังกรและการง้างคันธนูของนาจา ตรงนี้เองที่ชาฮาร์ต้องพยายามหาคำอธิบายเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องราวในส่วนนี้ของนาจากลับไปพ้องกับชีวิตวัยเด็กของพระกฤษณะ อวตารของพระนารายณ์ในมหากาพย์มหาภารตะ ที่ในวัย 7 ขวบ ได้ต่อสู้และฆ่าพญานาค และเช่นเดียวกับนาจา พระกฤษณะในวัยเด็กก็มีปมออดิปุสด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ พระกฤษณะยังสามารถที่จะง้างธนูที่ไม่มีใครง้างได้ ซึ่งน่าจะเป็นต้นเค้าให้กับตำนานของนาจา
ศาลบูชาเทพเจ้านาจา.
แต่การจะระบุว่านาจาคือ นลกุเวร หรือพระกฤษณะในวัยเด็กนั้น ยังเป็นเรื่องที่สับสนอยู่มาก ตัวชาฮาร์เองก็ไม่เชิงเห็นด้วยกับบรรดานักวิชาการที่สรุปเอาว่า นาจา คือนลกุเวร เนื่องจากความที่เป็นบุตรของท้าวเวสสุวรรณ ที่ในตำนานจีนระบุว่าเป็นแม่ทัพหลี่จิ้ง และด้วยความเลื่อมใสในท้าวเวสสุวรรณ ทำให้ชาวจีนผูกเรื่องราวของเขาเข้ากับเรื่องราวของพระกฤษณะในวัยเด็ก ชาฮาร์จึงสร้างข้อสรุปโดยที่ไม่อาจระบุได้ว่านาจาเป็นใครกันแน่ นั่นเพราะนาจาเป็นการผนวกรวมระหว่างนลกุเวรกับพระกฤษณะ แต่ข้อสรุปที่ชัดเจนของชาฮาร์ก็คือ “เทพนาจามีต้นกำเนิดมาจากอินเดียอย่างแน่นอน”.