เราจบวิศวะคอม แต่ออกมาทำงานด้านการสื่อสารและการตลาดเป็นส่วนใหญ่ของชีวิต พบว่าถึงแม้จะทำงานไม่ตรงสาย แต่เมื่อมองว่าสิ่งที่คณะและการเรียนใน discipline หนึ่งให้มาไม่ใช่แค่ความรู้จับต้องได้ตรงหน้า แต่รวมไปถึงวิธีคิด วิธีมองโลกแล้ว ก็มีหลายส่วนที่เอามาปรับใช้ได้ เราคิดว่าทุกคณะคงมีซูเปอร์พาวเวอร์แบบนี้เหมือนกัน
ส่วนตัว ต้องขอบคุณอาจารย์หลายท่านมากๆ ที่ม. เกษตร ที่ไม่ได้สอนแค่หลักวิชา แต่สอนให้มองลึกไปกว่านั้นหลายเท่า บางคนสอนการใช้ชีวิต การ give credits when it's due การเปิดโลกให้กว้างกว่าแค่การเรียนในมหาวิทยาลัย
มีอาจารย์คนหน่ึงที่ทำให้เรารู้ว่าตอนเรียนก็รับจ็อบเขียนโปรแกรมให้ชาวบ้านไปด้วยได้ และยังหางานให้ด้วย (ขอบคุณครับ อ.มะนาว) - อย่างเรื่องนี้ก็ทำให้เปลี่ยนวิธีมองว่าระหว่างที่เราทำอย่างหนึ่งก็ไม่ใช่ว่าทำอย่างอื่นไม่ได้เลยหากเราจัดสรรพลังงานได้ดีพอ (ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้ทำงานหลายอย่างตลอดมา)
ของวิศวะคอม ถ้านึกเร็วๆ สิ่งที่ได้คือ
🟢 การมองทุกอย่างเป็นระบบ
มองว่าทุกอย่างมีอินพุต เอาท์พุต ระบบภายใน รู้จักทดลองว่า หากเปลี่ยนอินพุตเป็นแบบนี้ เอาท์พุตจะออกมาเป็นอย่างไร และรู้จักวิธีการตรวจสอบไปทีละจุด ทีละชั้น ว่าทำไมเอาท์พุตจึงออกมาอย่างที่เห็น เรื่องนี้ได้จากการเขียนโปรแกรมแล้วต้องแก้บั๊ก ซึ่งก็ค่อยๆ สืบเสาะ และแก้ไปทีละเปลาะ
🟢 การมองว่าสิ่งใหญ่ๆ นั้นเริ่มมาจากชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ประกอบกันอย่างมีประสิทธิภาพ
โปรแกรมใหญ่ๆ นั้นมีโค้ดเป็นล้านบรรทัด แต่ไม่ใช่โค้ดที่เขียนขึ้นรวดเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ โค้ดแบ่งเป็นฟังก์ชั่น เป็นซับฟังก์ชั่น ที่แต่ละอย่างก็ใช้งานแตกต่างกันไป มีหน้าที่เฉพาะ เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า
หนึ่ง ไม่ต้องสร้างกรุงโรมในวันเดียวก็ได้ ค่อยๆ ทำไปตรงหน้า แต่ที่สำคัญคือต้องรู้ว่าภาพใหญ่จบตรงไหน อะไรที่เราต้องการ
สอง การที่ส่วนเล็กๆ เสียหาย มันไม่ได้เสียแค่ส่วนเล็กๆ แต่ถ้าส่วนเล็กๆ นั้นเป็นส่วนสำคัญ มันสามารถพาลให้เสียหายกันทั้งระบบได้
🟢 มีความสวยงามในทุกสิ่ง มีสไตล์ในทุกอย่าง
อาจารย์สอนว่าการเขียนโปรแกรมคือบทกวี คือภาพวาด คือการแสดงออกทางศิลปะ ไม่ใช่เพราะว่าเขียนโปรแกรมแล้วทำฟอร์แมตเว้นวรรคสวย แต่เพราะว่าการแก้ปัญหาหนึ่งๆ นั้นสามารถทำได้หลายวิธี มีทั้งวิธีที่เชื่องช้าอ้อมโลกซับซ้อน และวิธีที่เหมือนพระเจ้าประทานมา แบบ เขียนโค้ดบรรทัดเดียวจบทั้งที่คนอื่นต้องเขียนห้าร้อยบรรทัด มีวิธีที่สวยงามและวิธีที่ไม่สวย มีความตรงไปตรงมาและอ้อมค้อม
การอ่านโปรแกรมที่คนเขียนขึ้นจึงทำให้เรารู้ลักษณะนิสัยใจคอได้ระดับหนึ่ง รู้จักบุคลิก รู้ว่าคนนี้คิดเฉียบขาดแค่ไหน หรือเป็นคนช่างกังวลที่ต้องมีตัวเช็คหลายชั้น ฯลฯ
เรื่องนี้ทำให้ต้องการ "สื่อสาร" ให้เก่งด้วย และเป็นการสื่อสารหลายชั้น โปรแกรมโปรแกรมหนึ่งไม่ได้สื่อสารแค่กับผู้ใช้ แต่มันยังสื่อสารกับโปรแกรมอื่นผ่านส่วนเชื่อมต่อ และนอกจากนั้น การเขียนโปรแกรมก็ยังเป็นการสื่อสารให้โปรแกรมเมอร์ที่อาจต้องทำงานต่อจากเราได้เข้าใจด้วย
🟢 มองปัญหาด้วยจิตใจที่มีความสนุก
ไม่มองว่าปัญหาเป็นเรื่องเกินเอื้อมแก้ไม่ได้ พอเข้าโหมดทดสอบบั๊ก ก็สามารถถอยออกมา แล้วค่อยๆ สืบเสาะไปทีละเปลาะ และไม่ได้ทำด้วยความเครียดขึ้งตึงหนัก แต่ทำด้วยความสนุก รู้สึกเหมือนได้เล่นของเล่น ได้เป็นนักสืบ
จริงๆ คงมีอย่างอื่นอีกหลายข้อ แต่ถ้านึกเร็วๆ ก็ได้ประมาณนี้ นึกย้อนไปก็ไม่เคยเสียใจเลยที่เลือกเรียนสายนี้