เรื่อง Job Hopper ผมว่าจริงๆ มันออกแนวเป็นเทรนด์ตามสมดุลตลาดในวงกว้างไปแล้วแหละ เพราะตอนนี้งานที่ต้องการคนบางประเภทโดยเฉพาะ IT มันเยอะเกินแรงงานที่ทำงานได้จริงอยู่ในตลาดไปมากจริงๆ ดังนั้นก็ไม่แปลกที่คนเขาจะมีทางเลือกย้ายงานไปหาที่ๆ เหมาะกับตัวเองทั้งในเชิงเนื้องาน สังคม และรายรับได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดในภาพรวมเลยแหละ ที่อื่นเกิดไหมไม่รู้แต่ที่ไทยนี่ก็เป็นมาได้ 3-4 ปีแล้วนะ และเทรนด์นี้ก็คงไม่หยุดเร็วๆ นี้ด้วย
ความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจน่าจะต้องคิดสำหรับประเด็นนี้ ก็คงจะเป็นเรื่องว่า จริงๆ แล้ว Job Hopper จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของตลาดหรือเปล่า หรือฟองสบู่เศรษฐกิจและแรงงานมันจะแตกแล้วกลับไปสู่สภาพในอดีตที่ตำแหน่งงานที่ต้องการคนมันลดลงไปจนคนไม่ได้มีทางเลือกในงานมากนัก และคนอยากทำงานเดิมเติบโตต่อไปในบริษัทเดิมๆ
แต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป บางบ.ที่รู้ว่าต้องรับ Job Hopper เยอะๆ ก็อาจต้องอัดงานหนักๆ ความรับผิดชอบสูงๆ และประเมินกันเข้มข้นให้สมเงินเดือน ในขณะที่บางบ.อยากเน้นการอยู่กันยาวๆ ก็อาจมีวัฒนธรรมและสไตล์การทำงานที่ทำให้คนทำงานมีสมดุลกับชีวิตที่ดี เป็นต้น
ซึ่งตรงนี้การปรับธุรกิจให้รับกับคนทั้งสองแบบผมว่ามันก็ยากและท้าทายอยู่ เพราะมันหมายถึงเรื่องของการวางโครงสร้างผลตอบแทนและสวัสดิการกันใหม่ให้เหมาะกับสไตล์คนทำงานแต่ละแบบ ส่วนตัวผมเชื่อว่าในช่วงนี้เราน่าจะมีบริษัทที่แตกออกไปรับคนแต่ละแบบตามวัฒนธรรมองค์กรกับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมากกว่า แต่หลายบริษัทก็น่าจะเริ่มทำตัวแบบ Hybrid รับคนได้ทั้งสองกลุ่มแล้ว ซึ่งโครงสร้างหลายๆ อย่างข้างในก็น่าจะนัวเนียมาก เช่น คนอายุน้อยอาจจะได้เงินเดือนสูงกว่าคนที่ทำงานมานานหลายปีมากๆ แล้วจะทำยังไงให้ไม่ดราม่า หรือจะต้องคุยกันแต่แรกไหมว่าโหมดการทำงานจะเป็นยังไงเพื่อให้สอดคล้องกับคุณค่าที่บริษัทจะได้รับจากฐานเงินเดือนที่ต่างกัน และอื่นๆ อีกมากมาย