ภัยคุกคามของมองโกล ทำให้มีความจำเป็นต้องเสริมสร้างกองทัพและป้อมปราการต่างๆให้แข็งแกร่งและด้วยความจำเป็นนี้เอง ทำให้เจี่ยซื่อเต้าสามารถยึดที่ดินทั่วทั้งอาณาจักรได้มากกว่าครึ่ง โดยเอกชนจะถูกจำกัดการครอบครองที่ดินขนาดใหญ่ เหลือให้เพียงที่แปลงเล็กๆ ส่วนที่ดินที่เหลือ จะกลายเป็นนารัฐ หรือ กงเถียน ซึ่งผลผลิตและรายได้ต่างๆจากกงเถียน จะถูกนำมาใช้สนับสนุน กิจการกองทัพ
นโยบายนี้ถูกใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1263 และทำให้เจ้าที่ดินทั้งหลายโกรธแค้น ซึ่งก็มีเจ้าที่ดินจำนวนมากที่เป็นขุน นางของราชสำนักด้วย
นอกจากปฏิรูปที่ดินแล้ว เจี่ยซื่อเต้ายังยกเลิกนโยบายเหอตี้ หรือการที่รัฐซื้อพืชผลของชาวนาเพื่อควบคุมราคาพืชผล โดยจะนำออกมาจำหน่ายในราคาถูกเมื่อเกิดภัยแล้ง หรือใช้เป็นเสบียงกองทัพ โดยปกติรัฐจะรับซื้อในราคาสูงกว่าราคาตลาด เพื่อให้ชาวนามีรายได้มากขึ้น เเต่เนื่องจากการซื้อพืชผลต้องใช้เงินมาก ราชสำนักจึงต้องออกตั๋วแลกเงินเพื่อใช้แทนเงินสด ยิ่งซื้อมากในราคาสูง ก็ต้องออกตั๋วแลกเงินมาก ส่งผลให้มีปริมาณเงินในตลาดมากขึ้น จนเกิดเงินเฟ้อทำให้สินค้าราคาแพง เจี่ยซื่อเต้าต้องการลดเงินเฟ้อ จึงให้ยกเลิกนโยบายนี้
แม้นโยบายปฏิรูปที่ดินและการยกเลิกการซื้อพืชผลจะ
สร้างรายได้ให้อาณาจักรทำให้มีเงินมากพอสนับสนุนกองทัพโดยไม่ต้องรีดภาษีเพิ่ม ทว่าก็มีคนที่เดือดร้อนเสียผลประโยชน์เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเจี่ยซื่อเต้าและพรรคพวกยังหาผลประโยชน์ส่วนตัวจาก นโยบายดังกล่าวด้วย จึงทำให้มีผู้เกลียดชังเขาเป็นจำนวนมาก แต่เพราะเจี่ยซื่อเต้ากุมอำนาจสูงสุดในราชสำนัก จึงไม่มีใครกล้าขัดขวาง
ฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ.1265 กุบไลข่าน จอมข่านแห่งจักร วรรดิมองโกลส่งทัพใหญ่บุกเสฉวน ซึ่งแม้กองทัพมอง โกลจะสามารถทำลายกองทัพซ่งในเสฉวนได้ทั้งหมดพร้อมกับยึดเมืองได้หลายเมือง แต่ก็ไม่สามารถตีป้อมเตี้ยวอวี้เฉิงให้แตกได้และกลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการเคลื่อนทัพจากเสฉวนเข้าสู่ลุ่มน้ำฉางเจียง
กุบไลข่านจึงเปลี่ยนแผนโดยใช้การบุกทางน้ำผ่านทาง แม่น้ำฮั่นสุ่ยเพื่ิอบุกราชธานีหลินอันของซ่งใต้ทว่าการใช้วิธีนี้ก็ยังมีอุปสรรคสำคัญ นั่นคือ เมืองเซียงหยาง
เมืองเซียงหยางตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำฮั่นสุ่ยโดยคู่กับเมืองฟานเฉิงที่อยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ มีราษฎรที่อาศัยอยู่ทั้งในและรอบเมืองทั้งสองราวสองแสน
ทั้งสองเมืองเคยถูกมองโกลเข้ายึดได้เมื่อปี ค.ศ.1236 และฝ่ายซ่งแย่งคืนมาได้ในปี ค.ศ.1239 จากนั้นก็ได้มีการเสริมสร้างเมืองทั้งสอง จนกลายเป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่งและทำหน้าที่เป็นหน้าด่านสำหรับป้องกันลุ่มน้ำฉางเจียง
ใน ปี ค.ศ.1257 ทหารม้ามองโกลหลายพันนาย ได้เข้าโจมตีเมืองเซียงหยาง แต่เพราะไม่รู้ว่า เมืองนี้มีกำแพงสองชั้น พวกมองโกลจึงถูกหลอกให้เข้าไปอยู่ระหว่างกำแพงชั้นนอกและชั้นใน ก่อนถูกกองทหารที่ป้องกันเมืองสังหารจนหมดสิ้น
นอกจาก เมืองทั้งสองจะแข็งแกร่งแล้ว ภูมิประเทศและสภาพอากาศของภาคใต้ยังเป็นปัญหากับกำลังพลชาวมองโกลและชนท้องทุ่งอื่นๆด้วย กุบไลข่านจึงตั้งกอง ทัพชาวฮั่นขึ้น เพื่อใช้เป็นกำลังหลักในการทำศึกครั้งนี้
โดยกองทัพฮั่นที่กุบไลข่านตั้งขึ้นนี้ ประกอบด้วยทหารฮั่นของกองทัพจินและทหารจีนฮั่นของอาณาจักรซ่งใต้ที่มาสวามิภักดิ์ โดยทหารซ่งใต้ที่ยอมจำนนและสวามิ ภักดิ์ จะได้รับหญิงชาวเกาหลีเป็นภรรยา พร้อมกับ วัวเสื้อผ้าและที่ดินทำกิน
ทั้งนี้ จักรวรรดิมองโกลได้รุกรานอาณาจักรโครยอบนคาบสมุทรเกาหลีหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยจอมข่านโอกาไดและได้กวาดต้อนชาวเกาหลีกลับมาเป็นจำนวนมาก จนเมื่อถึงรัชสมัยของกุบไลข่าน โครยอก็ยอมศิโรราบกลายเป็นเมืองขึ้นของมองโกล