ความปราชัยของเซียงหยาง
แม้ว่าเมืองเซียงหยางและฟานเฉิงจะตั้งรับทัพมองโกลได้อย่างเข้มแข็ง แต่ก็มีปัญหาการเมืองที่บั่นทอนประ สิทธิภาพการทำศึกของฝ่ายซ่งใต้ โดยมีที่มาจากการที่นายพลลู่เหวินเต๋อ ผู้บัญชาการทหารประจำลุ่มน้ำฉางเจียง ซึ่งรับผิดชอบแนวป้องกันทางเหนือ ได้เสียชีวิตในปี ค.ศ.1269 (ลู่เหวินเต๋อผู้นี้ ป็นคนกล่าวหาหลิวเจิ้ง อดีตผู้ว่าเมืองหลู่โจวด้วยข้อหาฉ้อราษฏร์บังหลวง จนทำให้หลิวเจิ้งต้องหนีไปเข้ากับมองโกล และหลิวเจิ้งก็เป็นคนที่กราบทูลกุบไลข่านว่า เซียงหยาง คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้บุกถึงหลินอันผ่านเส้นทางน้ำได้ จึงทำให้กุบไลข่านส่งทัพมาตีเซียงหยาง)
เนื่ิองจากตอนที่ลู่เหวินเต๋อยังอยู่นั้น ตระกูลลู่มีอิทธิพลสูงในกองทัพ จนเคยถูกสงสัยในเรื่องความภักดี ทว่ามีอัครมหาเสนาบดีเจี่ยซื่อเต้าให้การสนับสนุนอยู่ จึงไม่มีใครทำอะไรได้ ต่อมาหลังลู่เหวินเต๋อตาย ด้วยความที่ไม่ต้องการให้ตระกูลลู่มีอิทธิพลมากไป จักรพรรดิซ่งตู้จงจึงให้หลี่ติ้งจี้ ซึ่งขัดแย้งกับตระกูลลู่ มารับตำแหน่งแทน และทรงห้ามเจี่ยซื่อเต้าไม่ให้มายุ่งกับเรื่องนี้
ทว่าเจี่ยซื้อเต้าได้แอบหนุนหลังคนตระกูลลู่ ในกองทัพให้ขัดคำสั่งหลี่ติ้งจี้ ทำให้ขาดเสถียรภาพในสายบังคับบัญชา จนหลี่ติ้งจี้ไม่อาจทำอะไรได้ นอกจากส่งเสบียงหนุน ซึ่งก็ถูกมองโกลแย่งไปทุกครั้ง
แม้สถานการณ์ชายแดนภาคเหนือจะคับขัน ทว่าเรื่องนี้กลับไม่ล่วงถึงจักรพรรดิซ่งตู้จง ด้วยเจี่ยซื่อเต้า ปิดบังอำพรางข้อเท็จจริง เพราะเกรงจะมีการสืบสาวจนเรื่องที่ตนแอบขัดรับสั่ง เข้าไปยุ่งกับสายการบังคับบัญชา ทำให้กองทัพชายแดนขาดเสถียรภาพถูกเปิดเผย และเนื่องด้วยจักรพรรดิซ่งตู้จงชื่นชอบแต่เสพสุราเคล้านารีจึงไม่ใช่เรื่องยากที่เจี่ยซื่อเต้าจะปิดข่าวชายแดน
เมื่อถึงปี ค.ศ.1271 เสบียงอาหารในเมืองเซียงหยางก็ใกล้จะหมดลง ขณะที่มองโกลสามารถตัดการติดต่อระหว่างเซียงหยางกับฟานเฉิงได้ แต่ทั้งสองเมืองยังคงยืนหยัดที่จะสู้ต่อไป และในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1271 กุบไลข่านก็ได้สถาปนาราชวงศ์หยวนที่เมืองข่านบาลิก
ปี ค.ศ.1272 ขณะที่เสบียงในเมืองเซียงหยางกำลังจะหมดนั้นเอง กองทหารซ่งสามพันนายก็สามารถบุกฝ่าวงล้อมข้าศึกและนำเสบียงเข้าไปส่งในเมืองได้ ทำให้ขวัญกำลังใจของชาวเมืองดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีใครสามารถกลับออกจากเมืองได้ ทำให้ทางกองบัญชาการ คิดว่า การส่งเสบียงล้มเหลว และเมืองทั้งสองคงขาดเสบียงอาหาร จนยากที่จะรักษาเมืองต่อไปได้ ทำให้ไม่มีการส่งกำลังพลกับเสบียงมาเพิ่มอีก
ทางด้านมองโกล นายพลชาวฮั่น ชื่อ กั๊วขั่น ซึ่งติดตามข่านฮูลากูไปทำศึกในตะวันออกกลาง ได้กลับมายังจีน กั๊วขั่นได้กราบทูลกุบไลข่าน ถึงเครื่องเหวี่ยงหินขนาดยักษ์ ที่ข่านฮูลากูใช้ทำลายกำแพงเมืองแบกแดดและเสนอให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวในการตีเซียงฟาน(ชื่อเรียกรวมของ เซียงหยางกับฟานเฉิง)
กุบไลข่านทรงเห็นด้วย จึงมีพระบัญชาไปยังพระนัดดา อาบาคา ซึ่งเป็นโอรสของฮูลากูและเป็นประมุขแห่งอิลข่าน ส่งผู้เชี่ยวชาญ มาช่วยสร้างอาวุธดังกล่าว จากนั้นจอมข่านจึงทรงมีพระบัญชา ให้กั๊วขั่นนำทหารราบ ชาวฮั่นสองหมื่นนายไปช่วยนายพลอาจูทำศึกที่เซียงหยาง
ทางอิลข่าน หลังข่านอาบาคาได้รับสาส์น ก็ส่งช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธหนักชาวมุสลิม ชื่อ อิสมาอิล กับ อัลอาดิน พร้อมกองทหารช่างชาวเปอร์เซียมาให้ โดยพวกทหารช่างของอิลข่านได้มาถึงจีน ช่วงปลายปี ค.ศ.1272
กุบไลข่านทรงให้อาริคกียา นายพลชาวอุยกูร์ ดูแลการสร้างอาวุธหนักของนายช่างทั้งสองโดยใช้ทหารอุยกูร์เป็นพลประจำหน่วยอาวุธหนัก