ตัวอย่างการสู้คดียาเสพติด ในประเด็นเรื่องมีไว้เพื่อเสพ ไม่ได้มีไว้เพื่อจำหน่าย
เนื่องด้วยประมาณต้นปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยได้มีการแก้ไขข้อกฎหมายเกี่ยวกับการมียาเสพติดไว้ในครอบครอง กรณีมีไว้เกินจำนวนหรือปริมาณที่กฎหมายกำหนด แต่เดิมให้เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่ามีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ปัจจุบันให้ถือเป็นเพียงข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาด ทำให้จำเลยมีสิทธิสู้คดีในประเด็นว่า มีไว้เพื่อเสพ ไม่ได้มีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายได้
ซึ่งผู้เขียน เคยได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้แล้วโดยละเอียด เนื่องจากผู้เขียนไว้รับว่าความคดียาเสพติดคดีหนึ่ง ซึ่งเป็นคดีที่นำมาให้อ่านกันในวันนี้ ซึ่งคดีดังกล่าวมีประเด็นข้อต่อสู้ว่า จำเลยมียาเสพติดไว้เพื่อเสพเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อจำหน่าย โดยผู้สนใจโปรดอ่าน บทความเรื่อง “การแบ่งยากันเสพ ถือเป็นการจำหน่ายตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดหรือไม่ ?” ในลิ๊งด้านล่าง
https://www.facebook.com/srisungadvocate/posts/931760783645347?__tn__=K-R
คดีนี้มีข้อเท็จจริงเป็นที่น่าสนใจ เพราะลูกความของผู้เขียนเป็นเด็กหนุ่มหน้าดี เพิ่งเรียนจบมหาลัยชื่อดัง และมีความสามารถเป็นอาจารย์พิเศษสอนด้านภาษา ทำงานบริษัทที่ดี ได้เงินเดือนสูง เพียงแต่ด้วยความรักสนุก เมื่อดื่มเหล้าจนเมาได้ที และเพื่อนชวนไปเที่ยวต่อที่ผับ จึงได้ลองอยากลองเสพยาติด คือยาอี ซึ่งเป็นยาเสพติดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่วัยรุ่นในตอนนี้ แต่ได้ถูกจับกุมเสียก่อน และปรากฎว่ายาเสพติดที่ครองครองนั้นเกินจำนวนกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงถูกฟ้องในข้อครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย
ผู้เขียนเองก็เป็นคนที่เคยและชอบเที่ยวกลางคืนมาก่อน เที่ยวชนิดที่ว่าลองมาครบทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องยาเสพติดที่ผู้เขียนไม่ยุ่งเกี่ยว ก็ทราบดีว่าในผับใหญ่ๆ นักเที่ยวจำนวนมากจะมีการลักลอบเสพยาประเภทนี้ รวมยาเคตามีนเป็นจำนวนมาก เป็นเรื่องปกติ เข้าใจว่าเสพแล้วจะทำให้การเที่ยวนั้นสนุกกว่าธรรมดา
การเสพยาเสพติดเพื่อความสนุกย่อมไม่ใช่เรื่องดี แต่คนเหล่านี้เป็นเพียงผู้ป่วย เป็นเด็กที่หลงผิด อยากรู้อยากลอง ที่ควรได้รับการบำบัดรักษา ไม่ใช่อาชญากรที่ควรได้รับโทษจำคุก ซึ่งโทษจำคุกในคดีประเภทนี้มีอัตราโทษที่ค่อนข้างสูง
โดยคดีนี้หากจำเลยรับสารภาพในข้อหาครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง ตามมาตรฐานโทษหรือยี่ต๊อก จะถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี หรือหากสู้คดีแล้วไม่หลุด ก็จะถูกจำคุกประมาณ 3 ปี เศษถึง 4 ปี
ดังนั้นคดีนี้จึงมีเดิมพันสูง หากสู้คดีแล้วแพ้ เท่ากับอนาคตของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ทีพึ่งเรียนจบมาหมาดๆ มีความสามารถ มีอนาคตที่ดี จะต้องจบลง เพราะการเข้าไปติดคุก 2-4 ปี ในคดียาเสพติด เมื่อออกจากคุกมา เป็นการยากที่จะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติหรือเป็นคนดีของสังคมได้อีกต่อไป
ผู้เขียนได้วางรูปคดีและวางแผนคดีนี้อย่างตั้งใจ ในการสู้คดีผู้เขียนยึดหลักตามความจริง โดยให้จำเลยนำสืบไปตามจริงว่า ถือยาเสพติดไว้เตรียมแบ่งกันเสพกับเพื่อน ซึ่งยาเสพติดดังกล่าวได้ร่วมกันซื้อมา ถึงแม้จะทำให้รูปคดีดูสุ่มเสี่ยง เพราะคำว่าจำหน่าย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ หมายถึงการแบ่งกันเสพด้วย แต่เนื่องจากผู้เขียนได้ค้นคว้าข้อกฎหมายเป็นอย่างดีแล้วว่า ถึงแม้จะมีไว้แบ่งกันเสพ แต่หากเป็นการแบ่งกันเสพระหว่างผู้ที่มีเจตนาร่วมกระทำผิดกันมาตั้งแต่ต้น ก็ไม่ถือเป็นการจำหน่ายแต่อย่างใด (อ่านเนื้อหาในบทความข้างต้น)
ตลอดการสืบพยาน ฝ่ายอัยการโจทก์ แทบจะไม่ถามค้านพยานฝ่ายของผู้เขียนเลย โดยอัยการโจทก์ได้พูดกับอัยการรุ่นน้องและเด็กฝึกงานที่มาร่วมฟังการสืบพยานว่า ผู้เขียนสืบพยานฆ่าตัวเองอยู่แล้ว เพราะสืบว่ามีไว้เพื่อแบ่งกันเสพ รูปคดีผู้เขียนไปไม่รอดอยู่แล้ว
สุดท้ายแล้ว ศาลได้โปรดให้ความเมตตา ยกฟ้องจำเลยในข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่าย เนื่องจากพฤติการณ์ต่างๆในคดี ชี้ให้เห็นว่า จำเลยมีเพียงเจตนาครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งปัจจุบันไม่มีการยื่นอุทธรณ์ของอัยการโจทก์แต่อย่างใด
ผู้เขียนจึงนำตัวอย่างคดีมาให้ผู้สนใจได้ศึกษากัน แต่อย่างไรก็ดี การสู้คดี คดีประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เสียสุขภาพจิต ครอบครัวต้องเดือดร้อนแล้ว ก็ไม่ใช่ว่ามีโอกาสที่จะจบด้วยดีอย่างนี้เสมอไป หากมีข้อเท็จจริงอื่นๆที้เปลี่ยนแปลงไป ผลคดีก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้น ทางที่ดีอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจะดีที่่สุดครับ...