การทดลองในมนุษย์: เราเรียนรู้อะไรจากการทดลองสุดโหดของนาซีบ้าง และมันควรไหม
คำตอบของส่วนแรกคือ มากมายมหาศาล นักวิทยาศาสตร์ของเยอร์มันเป็นผู้ค้นพบความสัมพันธ์ของเอกซ์เรย์และความเสียหายของหน่วยกรรมพันธุ์ เขาค้นพบความสัมพันธ์ของมะเร็งและการสูบบุหรี่ นาซีค้นพบอันตรายของสารออร์แกนิคคลอรีนอย่าง DDT ก่อนที่อื่น ด้วยการใช้อิเลคตรอนไมโครสโคป นาซีรู้ถึงอันตรายจากฉนวนแอสเบสทอสกับมะเร็งปอด นอกจากนี้การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองก็มาจากการศึกษาของนาซี รวมไปถึงความสำคัญของสารอาหารอย่างวิตามินและเกลือแร่ การทดลองโหดๆอย่างการจำลองสภาพความดันต่ำได้มาซึ่งขั้นตอนการจัดการกับเครื่องบินตก และยังมีอย่างอื่นๆอีกมาก เราอาจบอกได้ว่าความก้าวหน้าทางวิศวกรรมและการแพทย์มีการก้าวกระโดดจากการทดลองในมนุษย์ของนาซี เพราะไม่ว่าเราจะทดลองอะไร การทดลองกับสิ่งที่เราต้องการเป็นเป้าหมายย่อมได้ผลเหนือกว่าการทดลองกับสปีชี่ส์ข้างเคียงที่ต้องมีการปรับโดสเทียบเคียงกับคนเสมอ
แต่แน่นอน การทดลองกับมนุษย์มันมีจุดอันตรายต่อสังคม เราจะคัดเลือกคนอย่างไรให้มาเป็นเหยื่อการทดลอง นักโทษหรือ แต่หลักการลงโทษมีเป้าหมายเพื่อการดัดนิสัย และโทษประหารชีวิต มันไม่ใช่การลงโทษแต่เป็นการกำจัดคนที่เป็นอันตรายเกินออกจากสังคม การเอานักโทษประหารมาใช้ทดลองมันย่อมเกิดประเด็นทางจริยธรรม จากมุมมองของญาตินักโทษประหาร มุมมองของผู้ทำการทดลอง ที่ถ้าเขาหรือเธอสามารถทำการทดลองในระดับที่ถึงตายกับมนุษย์ได้ คนพวกนี้ก็จะมีปัญหาในการเข้าสังคมกับมนุษย์คนอื่นๆเพราะมาตรฐานจริยธรรมมันจะต้องบิดเบี้ยวออกไปมาก และในมุมมองของสังคม ถ้าหากเราเอามนุษย์มาทดลองได้ คุณค่าของชีวิตของประชาชนในสังคมนั้นจะต้องลดทอนจากค่า Norm ที่เราเป็นอยู่มาก และ อย่างน้อยถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ การสร้างดีมานด์นักโทษประหารในลักษณะนี้มันจะทำให้เกิดการบิดเบี้ยวที่น่าสะพรึงกลัว สำหรับคนที่เคยอ่าน Les Miserable น่าจะเคยได้ยินสิ่งที่เรียกว่า forçat (ฟอร์ซัท) ที่พระเอก ชองเลอชองโดนในตอนต้น ระบบนี้เป็นผลพวงจากการเลิกทาส พอทาสไม่มีก็เลยเอานักโทษมาใช้งานแทนและเกิดการสร้างระบบที่ทำให้โทษเล็กๆเป็นโทษใหญ่ และเมื่อได้รับโทษถึงจุดหนึ่งจะได้ปล่อยตัวออกมาในฐานะคนที่ถูกคุมความประพฤติตลอดชีพต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกวันทำให้เดินทางไม่ได้ทำมาหากินไม่ได้สุดท้ายต้องทำผิดแล้วจับไปเข้าคุกเป็นแรงงาน forçat ไปตลอดจนกว่าจะตาย ระบบที่มีการลดทอนคุณค่าความเป็นคนนี้จึงเป็นดาบสองคม และการทดลองที่มีลักษณะของการทำลายอาจทำกับศพแต่ไม่ควรให้ทำกับมนุษย์
ในปัจจุบัน เรามีการทดลองยากับเซลล์มนุษย์ที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาบนจานทดแทนการทดลองกับสัตว์ที่มีประเด็นทางจริยธรรมเข้ามาค้ำคอ แต่การทดลองกับเซลล์มนุษย์ก็ยังอยู่ในระดับที่จริยธรรมทางสังคมของมนุษย์ ณ ปัจจุบันยังกังขา ว่า แล้วมันจะมีจุดแบ่งไหม จากเซลล์มนุษย์ไปจนถึงตัวอ่อนว่าจุดไหนจะเป็นจุดชี้ขาดที่จะถือว่าไร้มนุษยธรรม และแม้ว่าการทดลองกับมนุษย์ย่อมจะได้ผลที่ตรงชัดเจนที่สุด แต่มันก็เป็นสิ่งที่ยุ่งยากที่สุดตามมาตรฐานความเป็นมนุษย์นั่นละ
#มิตรสหายท่านหนึ่ง