(ต่อจาก >>583 )
กำเนิดของสมาคมหงเหมิน มี 3 ทฤษฎี
ทฤษฎีแรก ซุนยัตเซนและเถาเฉิงเจียงเชื่อว่า ขุนนางเก่าของราชวงศ์หมิงร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อโค่นชิงฟื้นหมิง มีเจิ้งเฉิงกง (พ.ศ.2167-2205) เป็นผู้นำคนแรก โดยถือเอาฟ้าเป็นพ่อ ดินเป็นแม่ จึงเรียกสมาคมฟ้าดิน (เทียนตี้ฮุ่ย-ทีตี่หวย) ช่วงเวลาเดียวกันนี้ขุนนางเก่าของราชวงศ์หมิงร่วมกันตั้งขบวนการต่อต้านราชวงศ์ชิงขึ้นอีกหลายแห่ง ที่สำคัญคือหงอิงร่วมมือกับกู้เอี้ยนอู่และคนอื่นๆ ตั้งสมาคมฮั่นหลิวซึ่งภายหลังร่วมกับสมาคมฟ้าดิน ใช้ชื่อว่าหงเหมินตามแซ่ของหงอิง ตามทฤษฎีนี้มีตำนานเกี่ยวข้องกับวัดเส้าหลินใต้ที่ฮกเกี้ยน เป็นตำนานที่เล่าขานไปทั่วรวมทั้งประเทศไทย สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “เปิดโลกยุทธจักร” ซึ่งอรุณ โรจนสันติ แปลจากภาษาจีน
ทฤษฎีที่สอง มีตำนานว่าในรัชกาลคังซีพระวัดเส้าหลินใต้ที่ฮกเกี้ยนช่วยราชวงศ์ชิงรบขับไล่ศัตรูที่เข้ามาตีจีน แต่แล้วกลับถูกหักหลังล้อมเผาวัด มีหลวงจีนหนีไปได้เพียง 5 องค์ ถึงอำเภอสือเฉิง เมืองฮุ่ยโจว มณฑลกวางตุ้ง ได้พบกับว่านหยุนหลง กรีดเลือดสาบานกันตั้งสมาคมฟ้าดินขึ้น ตำนานนี้คล้ายกับตำนานอั้งยี่ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในนิทานโบราณคดี
ทฤษฎีที่สาม ไช่เส้าชิงค้นคว้าจากเอกสารและจดหมายเหตุปราบกบฏหงเหมินกลุ่มหลินซวงเหวินในไต้หวันในรัชกาลคังซีได้ข้อสรุปว่า หลวงจีนหงเอ้อร์ (อีกชื่อหนึ่งว่าว่านถีสี่) ก่อตั้งสมาคมนี้ขึ้นเมื่อพ.ศ.2304 รัชกาลเฉียงหลงโดยรวมศิษย์และสมัครพรรคพวกขึ้นที่อำเภอจางผู่ เมืองจางโจว มณฑลฮกเกี้ยนก่อน มีปณิธานโค่นชิงฟื้นหมิง และร่วมแรงแข็งขันถือว่า “น้ำป่าไหลหลากลงใต้ฟ้า หยดเลือดร่วมสาบานร่วมแซ่หง”
ผู้เขียนหนังสือมองว่า ทฤษฎีที่สามเชื่อถือได้มากที่สุด แต่ทฤษฎีแรกแพร่หลายที่สุดและก็มีความเป็นไปได้มากกว่า สมาคมหงเหมินคงมีเค้ามาตั้งแต่ยุคเจิ้งเฉิงกงแต่มาสมบูรณ์ชัดเจนในยุคหลวงจีนหงเอ้อร์ตามทฤษฎีที่สาม
เมื่อแรกก่อตั้ง ขบวนการหงเหมินแพร่อยู่ในมณฑลฮกเกี้ยน กวางตุ้งและเจ้อเจียง แล้วค่อยๆ ขยายกว้างออกไป ถึงยุคสงครามฝิ่น (พ.ศ.2383) แพร่ไปหลายมณฑลตลอดจนโพ้นทะเลถึงอเมริกา มีสมาคมสาขาใช้ชื่อต่างกันมากมายทั้งในและนอกประเทศจีน
ขบวนการหงเหมินและเครือข่ายเป็นกบฏและก่อจลาจลหลายครั้ง บางส่วนเข้าร่วมกับกบฏไท่ผิง การโค่นล้มราชวงศ์ชิงของซุนยัตเซนได้รับความช่วยเหลือจากขบวนการหงเหมิน (อั้งยี่) ทั้งในและนอกประเทศจีนรวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งไม่ขอกล่าวรายละเอียด
หลี่เทียนซี่มีความเห็นว่าพวกหงเหมิน (อั้งยี่) คงจะใช้เทศกาลกินเจบังหน้าหาพวกพ้องร่วมขบวนการต่อต้านราชวงศ์ชิง ศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลฮกเกี้ยน ต่อมาถูกปราบ พลอยให้เทศกาลกินเจเสื่อมไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฮกเกี้ยน พวกหงเหมินเป็นอันมากหนีไปดำเนินการต่อในโพ้นทะเล กิจกรรมสำคัญประการหนึ่งคือสร้างโรงเจ ทำให้เทศกาลกินเจในโพ้นทะเลโดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยกับมาเลย์เซียคึกคักแพร่หลายยิ่งกว่าในจีน โรงเจเหล่านี้ส่วนมากมีกลอนคู่ (ตุ้ยเหลียน-ตุ้ยเลี้ยง) สื่อความหมาย “โค่นชิงฟื้น หมิง” อยู่ด้วย
ผู้เขียนหนังสืออ้างอิงคำบอกเล่าของอาจารย์ธีระ ซึ่งระบุว่า อั้งยี่โพ้นทะเลเหล่านี้อพยพออกมาเป็น 3 รุ่น รุ่นแรกราวพ.ศ. 2400 สายหนึ่งขึ้นที่ภูเก็ต รุ่นสามมีเหลาฉวบซือกง ผู้บวชที่วัดซิงอำยี่ เมืองแต้จิ๋ว เป็นผู้นำสำคัญอีกราย มาขึ้นฝั่งที่ภูเก็ตราว พ.ศ.2430 และธุดงค์ไปหลายจังหวัด นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำก่อสร้างโรงเจ สอนพิธีกินเจให้โรงเจหลายแห่ง
ผู้ร่วมกิจกรรมโรงเจเหล่านี้มักพูดคำว่า “ฮ้วงเช็ง-ฮกเม้ง” หรือ “โค่นชิงฟื้นหมิง” กันติดปาก ซึ่งอาจารย์ธีระ เล่าให้ฟังว่า ช่วงก่อนอายุ 14 ปี เมื่อพบเพื่อนก็ยกมือขึ้น แบมือ และพูดคำนี้ตามโดยไม่รู้ความหมาย ถาวร สิกขโกศล เชื่อว่า ข้อมูลนี้ถือเป็นหลักฐานชี้ว่าโรงเจเหล่านี้เกิดจากพวกอั้งยี่อย่างแน่นอน แต่อุดมการณ์ทางการเมืองค่อยๆ จางหายไป เหลือแต่กิจกรรมทางศาสนา
สำหรับความเสื่อมสูญของขบวนการอั้งยี่ หนังสือ “วัฒนธรรมของสังคมสัญจรชน” เขียนโดยเย่เทา และจางเหยียนซิง ระบุว่า ช่วงสงครามจีนญี่ปุ่น สมาคมฟ้าดิน (อั้งยี่) ต่อต้านต่างชาติที่รุกรานจีน และร่วมมือกับซุนยัตเซน โค่นราชวงศ์ชิงสำเร็จ แต่รัฐบาลก๊กมินตั๋งไม่เหลียวแล ยกเลิกกองทัพซึ่งมีกลุ่มฟ้าดินเป็นแกนหลัก
เมื่อกลุ่มฟ้าดินเห็นว่าราชวงศ์ชิงล่ม อุดมการณ์บรรลุผลแล้วก็ค่อยๆ สลายตัว บางกลุ่มกลายเป็นโจร บางกลุ่มตกเป็นเครื่องมือขุนศึก อั้งยี่ส่วนหนึ่งยังได้เข้าร่วมงานปฏิวัติหลังพรรคคอมมิวนิสต์ก่อตั้ง ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง หลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ในปีพ.ศ. 2492 รัฐบาลแก้ปัญหาชนชั้นและเศรษฐกิจ ปราบกลุ่มนอกกฎหมายอย่างจริงจัง อั้งยี่ในจีนจึงสลายไป
#มิตรสหายท่านหนึ่ง