เทศกาลกินเจเป็นประเพณีที่แพร่หลายในไทยอย่างมาก หลายพื้นที่จัดเป็นเทศกาลใหญ่ อิทธิพลซึ่งทำให้การกินเจได้รับความนิยมอย่างสูงในไทย หากอ้างอิงตามข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมไทย-จีนจะพบว่า ไทยได้รับอิทธิพลหลักจาก “งิ้ว” และ “อั้งยี่” ที่เป็นสมาคมทางการเมือง ผสมผสานกับพุทธศาสนามหายานในช่วงหลังจนมีอัตลักษณ์ชัดเจน
เนื้อหาในหนังสือ “เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้” โดยถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมไทย-จีน ระบุว่า การกินเจเดือนเก้าในไทยมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าได้รับอิทธิพลมาจากงิ้ว ซึ่งนำการกินเจมาเผยแพร่ในไทยมาจากเนื้อหาที่พระสันทัดอักษรสาร เขียนไว้ในเรื่อง “ประวัติงิ้วในเมืองไทย” เผยแพร่ในนิตยสาร “ศัพท์ไทย” เล่ม 3 ตอน 9 เมษายน พ.ศ. 2467 เนื้อหาระบุว่า
“พวกงิ้วเป็นต้นเหตุที่นำเอาแบบธรรมเนียมการกินเจเข้ามา ได้ตั้งโรงกินเจเรียกว่า ‘เจตั๊ว’ งิ้วนี้เมื่อถึงคราวกินเจต้องกินเจทุกโรง ต่อมาพวกจีนทั้งหลายก็พลอยพากันกินเจไปด้วย แต่ปัจจุบันการกินเจได้เสื่้อมลงไปหมดแล้ว”
ผู้เขียนหนังสืออธิบายเพิ่มเติมถึงอิทธิพลของงิ้วต่อการกินเจในประเทศไทยว่า ผู้ประกอบอาชีพงิ้วจีน (ซึ่งมีมากกว่า 300 ชนิด ที่สำคัญมีกว่า 200 ชนิด) ส่วนมากยึดถือเทศกาลกินเจเดือนเก้าเป็นเทศกาลประจำอาชีพ กลุ่มที่ยึดถือ อาทิ งิ้วปักกิ่ง อานฮุย เซี่ยงไฮ้ แต้จิ๋ว ฯลฯ ในยุคก่อนสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อถึงเทศกาล กลุ่มงิ้วจะแต่งชุดขาวกินเจ 9 วัน
การกินเจในพื้นที่สำคัญอย่างภูเก็ตมีประวัติว่า พวกงิ้วเป็นผู้เริ่มก่อน เมื่อพ.ศ. 2392 ที่บ้านกระทู้ และมีชาวบ้านร่วมด้วย เมื่อร่วมด้วยและโรคภัยบรรเทาลงจึงทำเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตามรูปแบบที่กลุ่มงิ้วสอนไว้
สำหรับโรงเจในภาคกลาง ถาวร สิกขโกศล อ้างอิงข้อมูลจากอาจารย์ธีระ วงศ์โพธิ์พระ (ธีรทาส) ซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงเจเป้าเก็งเต็งบ่อนไก่คลองเตย ที่อยู่ในหนังสือ “ตำนานศาลเจ้าโรงเจ อายุ 100 ปี เมืองไทย” ว่า วัดจีน ศาลเจ้าจีน โรงกินเจต่างๆ ในไทยกลุ่มที่อายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไป ส่วนมากเป็นศิษย์สายวัดเส้าหลิน (เสี่ยวลิ้มยี่) สาขาฮกเกี้ยนประเทศจีน มาก่อสร้างไว้หลายยุค ส่วนมากเป็นภิกษุที่มีความรู้ นักปราชญ์ชาวฮั่นกลุ่มเชื้อสายราชวงศ์หมิงที่หลบหนีภัยสงคราม ท่านเหล่านี้ร่วมขบวนการอั้งยี่ สมาคมลับผู้เป็นแกนนำชูอุดมการณ์ “โค่นชิงฟื้นหมิง” คือ พวกหงเหมิน (洪门) แต้จิ๋วว่า “อั่งมึ้ง” ซึ่งในเมืองไทยเรียกกันว่า “อั้งยี่”
สมาคมหงเหมินยังมีชื่ออื่นอีกเช่น ซันเหอฮุ่ย (三合会 ซาฮะหวย) แปลว่า องค์สามหรือสามประสานคือฟ้าดินมนุษย์
(ต่อเม้นล่าง)