ต่อรองราคา
ไม่รู้ว่าการซื้อ-ขาย บทบัญญัติในศาสนาอิสลามอนุมัติการตั้งราคา การต่อรองซื้อขาย การขึ้นราคา มากน้อยแค่ไหน
แต่การซื้อสินค้าในเมืองมักกะฮ คือบททดสอบของการเป็นนักต่อรอง
สินค้าแต่ละร้านไม่มีราคาป้าย อาศัยการต่อรองกัน
ราคาที่ตั้งบางทีก็ต่อได้ถึงครึ่งต่อครึ่ง
คราวนี้ราคาสินค้ามันขึ้น-ลงตามความต้องการของตลาดเลย
ที่เคยเจ็บใจมากๆ คือการขึ้นรถแท็กซี่ในวันฮัจญ์ (11 ซุลฮิจญะฮ) ซึ่งเป็นวันที่คนแทบทุกคนในเมืองมักกะฮ จะนั่งรถแท็กซี่กลับไปยังทุ่งมีนาก่อนพลบค่ำ
ระยะทางจากมัสยิดฮารอม-ทุ่งมีนา ประมาณ 4 กิโลเมตร ในวันปกติ เราสามารถนั่งแท็กซี่ผู้โดยสารเต็มคัน ในราคาแค่ 20 ริยัล (200 บาท)
แต่วันฮัจญ์ ราคาต่อที่นั่งขึ้นไปถึง 50 ริยัล รถเก๋งหนึ่งคันนั่ง 6 คน ถ้ารถตู้นั่ง 10 คน (นั่งแท็กซี่เที่ยวเดียวได้แล้ว 5000 บาท)
มิเตอร์มีทุกคัน แต่ไม่มีใครกดสักคัน
โกนหัวในวันปกติราคา 10 ริยัล วันฮัจญ์ 50 ริยัล
ค่าห้องพักโรงแรมรอบมัสยิดฮารอม ในช่วงพีคซีซั่น ห้องเล็กๆธรรมดา ราคา 50,000 ริยัล ถ้าห้องสวีทที่ดีที่สุด คืนละ 3 แสนริยัล
เข็นรถเข็นในวันปกติ รวมทั้งตอวาฟ-สะแอ 150 ริยัล
พอวันฮัจญ์ราคาขึ้นเป็น 450 ริยัล (รัฐบาลเค้าบริการรถไฟฟ้าราคาคงที่ตลอดทุกฤดูกาล ราคาแค่ 100 ริยัล/คน อันนี้ถือว่าดีมาก)
ความเป็นเจ้าภาพฮัจญ์ของซาอุดี้คะแนนมันลดตรงนี้แหละ หลายธุรกิจหลายบริการ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเอื้อให้ฮุจญาติได้รับการบริการในราคายุติธรรม แต่ออกแบบมาให้กลไกลตลาดทำงานอย่างเสรี ใครจะตั้งราคาเท่าไหร่ก็ได้ ตราบที่มีคนจ่าย และคนจำนวนมากก็จ่ายบนฐานของกำหนดเวลาที่เร่งรีบในช่วงพิธีกรรมทางศาสนา หรือเรียกว่าต้องจ่ายเพื่อให้หลักการศาสนาที่ตัวเองถือครองอยู่ไม่ตกหล่น ซึ่งยิ่งทำให้ดีมานด์ของผู้ซื้อบริการยิ่งบีบคั้นเข้าไปอีก
ธุรกิจแบบอิสลามิคไม่รู้เป็นแบบไหน มีการนำไปใช้จริงที่ไหนบ้างผมไม่แน่ใจ
แต่ที่รู้ ในเมืองมักกะฮแบบแผนทางเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานมันคือทุนนิยมเสรีสุดโต่งชัดๆ ดังนั้นถ้ามุสลิมจะด่าทุนนิยมเสรีที่ว่าเป็นปิศาจ วันหลังต้องรณรงค์ให้ล้างระบบพวกนี้ในมักกะฮก่อนเลย
#มิตรสหายท่านหนึ่ง