Age of Prohibition: ยุคอดเหล้าเน่าเหม็น
ภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นับวันสูงขึ้น การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา การไล่ปิดสถานบันเทิงที่ขายเครื่องดื่มให้ปิดแต่หัววัน ตลอดไปจนถึงโฆษณางดเหล้าต่างๆ ของ สสส. ที่ประณามหยามเหยียดคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นคนบาปชั่วร้าย แต่ในอีกด้าน เจ้าสัวโรงเหล้าโรงเบียร์ก็ใช้เงินจากธุรกิจเหล้าเบียร์ไล่กว้านซื้อที่ดินและกิจการ ครองระบบเศรษฐกิจชาติโดยได้รับการยกย่องในสังคม ร้านเหล้าในสนามบินและโรงแรมหรูหราเปิดขายทุกเวลา เสมือนกับว่า หากเป็นชนชั้นล่างแล้ว การดื่มสุราก็เป็นเรื่องผิดบาปเลวร้ายเหลือทน แต่เมื่อร่ำรวยแล้วกฎของศีลธรรมและบาปผิดก็ไม่นำมาใช้เลย
ทำให้หวนไปนึกถึงยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ยุคที่อาชญากรรมและความรุนแรงเฟื่องฟู แก๊งอาชญากรใต้ดินเข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐแทรกซึมทุกส่วน ยุคที่เกิดการฟื้นฟู "ศีลธรรมดั้งเดิมของคริสเตียน" ไปพร้อมกับความหน้าไหว้หลังหลอก ยุคที่สุราเมรัยเป็นความผิดอาญา
ยุคแห่งการห้ามดื่มเหล้า Age of Prohibition
ปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 การดื่มเหล้าดีกรีแรงแพร่หลายไปทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา สภาพคนเมาเหล้าหยำเปนอนตามข้างถนนเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไป ร้านเหล้า บาร์ เป็นแหล่งซ่องสุมของอาชญากร เป็นช่องทางคอร์รัปชัน จนเกิดความรังเกียจจากคนในสังคม โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ความเชื่อมั่นในความรู้ ความดี และจริยธรรมของมนุษย์จากวิทยาศาสตร์เริ่มเสื่อมทรามลง โรงเบียร์ โรงเหล้า ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตมีเชื้อสายเยอรมันถูกมองว่าเป็นศัตรูมามอมเมาชายหนุ่มกำลังของชาติ
กลุ่มสหภาพสตรีคริสเตียนเพื่อการเลิกเหล้า Woman's Christian Temperance Union ได้รณรงค์ให้เห็นถึงพิษภัยจากสุรา โฆษณาเรียกร้องโดยใช้ภาพภรรยาที่ถูกสามีขี้เหล้าทุบตี การรณรงค์ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากแนวเคลื่อนไหวฟื้นฟูความเชื่อโปรเตสแตนท์ (Pietistic Protestant) โดยชี้ให้เห็นว่าการดื่มเครื่องดองของเมาทำให้ขาดจากพระเจ้า และมีข้อเชื่อชี้ไว้ในพระคัมภีร์เก่า กลุ่มคริสเตียนโปรเตสแตนท์เหล่านี้สามารถระดมทุนล็อบบี้สมาชิกสภา และสร้างแนวร่วมในทางการเมืองได้มาก จนกระทั่งให้สภาคองเกรสแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมฉบับที่ 18 ในวันที่ 16 มกราคม 1920 แม้ว่าประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ในขณะนั้นได้มองการณ์ไกลและใช้สิทธิ์วีโต้ไปแล้วก็ตาม
เหล่านักรณรงค์เลิกเหล้าได้ประกาศชัยชนะว่าเป็นชัยชนะของศีลธรรมและความสงบเรียบร้อยในสังคม
แต่ทว่า ผลที่แท้จริงนั้น กลับตรงกันข้าม
กฎหมายวอลสตีด (Volstead Act) ที่ออกมาภายหลังการแก้รัฐธรรมนูญ ได้ห้ามการดื่มเหล้า การจำหน่ายและจ่ายแจกเหล้าและเครื่อมดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิง เว้นแต่ไวน์ในพิธีทางคริสตศาสนาจำนวนน้อย ซึ่งถูกกำกับโดยรัฐ และโบสถ์ส่วนหนึ่งก็หันไปใช้น้ำองุ่นแทน รวมถึงการจ่ายวิสกี้เป็นยาโดยต้องมีใบสั่งแพทย์ ผู้ที่ฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญารุนแรงมากน้อยไปตามแต่รัฐบัญญัติในแต่ละมลรัฐจะกำหนด
ในทางปฏิบัติแล้ว กฎหมายนี้แทบจะถูกละเลยโดยสิ้นเชิง
กลุ่มอาชญากรรมเดิมได้สร้างเครือข่ายเหล้าเถื่อน (Moonshine) ขึ้นใต้ดินทดแทนร้านเหล้าดั้งเดิมโดยไม่ต้องเสียภาษีอีกต่อไป ใช้เงินจากสุราเมรัยซื้อตัวผู้รักษากฎหมายในทุกชั้นตั้งแต่ตำรวจ นายอำเภอ จนถึงอัยการ ศาลและนักการเมือง ตลอดทั้งทศวรรษที่ 1920 อาชญากรรมจากเหล้าที่เห็นต่อหน้าอาจจะลดลง แต่อาชญากรรมแบบองค์กรที่เกิดขึ้นจากเครือข่ายมาเฟียค้าเหล้าซับซ้อนซ่อนลึกลงไป และรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในนิวยอร์ก มาเฟียหลายเชื้อชาติเปิดฉากแย่งชิงธุรกิจเหล้าเถื่อนและค้ามนุษย์ซุกซ่อนในแหล่งเสื่อมโทรม ในรัฐต่างๆ ล้วนแล้วแต่บ่มเพาะสร้างมาเฟียท้องถิ่น เข้าสวามิภักดิ์มาเฟียใหญ่ที่กุมเครือข่ายค้าเหล้า ในขณะที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองดักจับแต่ผู้ขายเหล้าต้มเหล้าขนาดเล็ก แต่ปล่อยให้มาเฟียใหญ่ลอยนวลจากกฎหมายทั้งปวง
ถึงจะมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญากำหนด แต่ในนิวยอร์กเพียงเมืองเดียว ก็มีร้านเหล้าผิดกฎหมายถึงแสนร้าน สร้างความร่ำรวยให้มาเฟีย กลุ่มอิทธิพลพนักงานรัฐและนักการเมืองที่เกี่ยวข้องมหาศาล โดยประเทศชาติไม่ได้ภาษีแม้แต่เซนต์เดียว
ในส่วนของการบิดกฎหมายเพื่อแสวงหาสุรามาดื่ม โบสถ์ท้องถิ่นและแพทย์ ได้รับรายได้จากการออกใบอนุญาตให้ซื้อไวน์และวิสกี้เพื่อกิจกรรมทางศาสนาและการแพทย์ จนเกิดช่องว่างการค้าไวน์และวิสกี้จากโบสถ์และคลินิก เป็นความเสื่อมและการคอรัปชันรุนแรง
(ต่อเม้นล่าง)