ผมเห็นข่าวจีนกวาดล้างสัญลักษณ์ศาสนาเพราะอาจทำให้เกิดความแตกแยกในอัตลักษณ์
คนจำนวนหนึ่งคอมเมนท์ว่าจริงๆถ้ากฎหมายเข้มแข็งมีแค่นั้นก็พอแล้ว แต่มันจริงหรือเปล่าที่ "แค่กฎหมายก็พอแล้ว"?
ตอนอยู่ในเรือนจำ ผมคิดเรื่องนี้เหมือนกันนะ
มันมีเคสของคนขับรถคนหนึ่ง ชนคน สิ่งที่เขาเผชิญในจิตใจคือ
A เหยียบซ้ำให้ตาย
B หนี
C ลงไปช่วย
คิดแบบเป็นเหตุเป็นผล
ถ้าเลือก A โอกาสถูกจับได้จะน้อยที่สุด
ถ้าเลือก B มีโอกาสหนีได้ แต่ผู้เคราะร้ายก็อาจจะจำได้
ถ้าเลือก C ถูกจับแน่นอน แต่อาจน้อยหน่อยเพราะไม่หนี
คนที่ผมเจอเลือก B
เหตุผลคือไม่อยากติดคุก เลยไม่เลือก C แต่ไม่กล้าเลือก A เพราะกลัวบาปกรรม
กฎหมายเป็นการทำงานแบบเป็นเหตุเป็นผล ให้คนกลัวที่จะไม่ทำผิดเพราะกลัวถูกลงโทษ
แต่ "บาปกรรม" นั้นเป็นความเชื่อทางศาสนา
น่าสนใจว่าคนขับรถนี้กลัวบาปกรรม มากกว่ากลัวโทษทางกฎหมาย เพราะ "เชื่อ" ว่ามันหลบเลี่ยงยากกว่ากฎหมาย เอาล่ะ เขาไม่ใช่นักบุญพอจะยืดอกเดินลงไปมอบตัว แต่ก็ป้องกันไม่ให้เขาฆ่าปิดปาก (ทั้งๆที่ถ้าคิดแบบเครื่องจักรแล้วทางนั้นดีที่สุด)
ในทางกลับกัน เราเห็นคลิปจำนวนมากพวกถอยรถกลับมาเหยียบเด็กซ้ำ ประเทศไหนก็รู้กัน
มันมีเคสในจีนหลายเคสเกิดขึ้นซ้ำๆกัน ประเภทว่ารถชน แล้วมีคนไปช่วยคนถูกจน ปรากฎว่าไปถึงโรงบาลคนถูกชนไม่มีเงินจ่ายค่าหมอเลยบอกว่าคนที่ช่วยมาเป็นคนชน ศาลดันตัดสินว่าคนที่พามาผิดจริง เพราะด้วยเหตุผลว่าถ้าไม่ใช่คนชนคงไม่มาช่วย - จากนั้นมาเลยกลายเป็นว่าพอเห็นคนถูกรถชนจะปล่อยตายตรงนั้นแหละ หรือไม่ถ้าช่วยก็ต้องประกาศว่า "เป็นพวกคุณเป็นพยานให้ผมนะ ว่าผมไม่ใช่คนชน มาช่วยเฉยๆ"
ผมคิดว่าเขามีทางแก้ปัญหาศีลธรรมในแบบของเขา มั้งนะ
ในสังคมที่ดีเนี่ย คนเราไม่มีศาสนาได้ แต่ไม่มีศีลธรรม ไม่มีจริยธรรม ไม่มีethics ไม่ได้
คนต้องมีอะไรบางอย่างโปรแกรมไว้ว่า ถึงจะฆ่าคนแล้วได้ผลดีก็จะไม่ทำ ถ้าช่วยคนแล้วได้ผลเลวร้ายก็จะยอมทำ - อะไรสักอย่างที่แข็งแกร่งกว่าการคิด +- ด้วยเหตุผล เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
สมมุติว่าถ้าสังคมไร้ระบบระเบียบอะไรทั้งสิ้น คิดว่าโลกนี้ป่าเถื่อนโดยสิ้นเชิง การทำดีส่วนมากให้ผลลบกับตัวผู้ทำ ส่วนการทำเรื่องเลวร้ายมักจะได้ผลบวกกับตัวผู้ทำเอง (ถ้าเราเอาสิ่งที่เรามีให้คนที่หิวเราจะมีน้อยลง / ถ้าเราทำร้ายแย่งชิงจากผู้อื่นที่อ่อนแอกว่าเราจะมีมากขึ้น) สังคมจึงต้องการบางสิ่งเพื่อให้คนยอมทำดีแม้จะเสียเปรียบ และยอมอดใจที่จะไม่ทำเลวแม้ว่าจะได้ประโยชน์เห็นๆ
กฎหมายมันเป็นแค่บัญญัติและการลงโทษโดยรัฐ ซึ่งมันอาจหลบเลี่ยงได้เมื่อรัฐไม่เห็น หรือไม่ก็วิธีบางอย่าง เช่นใต้โต๊ะ พ่อรวย เส้นใหญ่ ฯลฯ
กฎหมายอย่างเดียวนั้นไม่ได้สมบูรณ์ทุกเรื่อง กฎหมายบังคับใช้ไม่ได้ทุกที่ทุกเวลา มันไม่ได้มาเสือกถึงขนาดห้ามแซงคิว หรือให้เราพูดกับคนอื่นอย่างอ่อนโยน ให้เราเสียสละเพื่อคนที่มีน้อยกว่า ให้เราช่วยเหลือคนยากจน
จิตใจที่จะไม่ทำสิ่งเลวร้ายไม่ว่าจะได้รับบทลงโทษโดยรัฐหรือไม่ และจิตใจที่มุ่งจะทำสิ่งดีต่อผู้อื่นแม้ว่าจะต้องเสียผลประโยชน์จากการทำสิ่งดี จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นด้วย
ไม่ว่าจะสร้างด้วยศาสนา หรือวิธีสอนให้มีเหตุผล หรืออะไรก็ตาม
มามองบ้านเรา เอาล่ะ ความเชื่อวัฒนธรรมเก่าบางอย่างมันห่วย แต่ผมไม่คิดว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมเผามันให้หมดจะดี ก็ต้องค่อยๆปรับเปลี่ยน ปฏิรูปกันไป
#มิตรสหายท่านหนึ่ง