สองสามวันนี้คงมีหลายคนได้ผ่านตาโพสต์เกี่ยวกับ “THAI Select” กันบ้างไม่มากก็น้อย
_____________________________________________
ใครไม่เคยเห็นสรุปความคร่าวๆคือทางรมต.กระทรวงพานิชย์เดินหน้าดันตราสัญลักษณ์ Thai Select เพื่อเป็นการจำแนกอาหาร”ไทยแท้”ออกจากอาหารไทยที่รสชาติผิดเพี้ยน โดยวิธีการทำงานของ Thai Select คือทางคณะกรรมการจะมีเกณฑ์การให้คะแนนโดยแบ่งเป็น
รสชาติ 30 คะแนน/วัตถุดิบ 20 คะแนน/Food safety 20 คะแนน/รายการอาหาร 10 คะแนน/การตกแต่งและบรรยากาศ 10 คะแนน/การบริการ 10 คะแนน
โดยร้านที่ได้คะแนนต่างกันก็จะได้ระดับของ Thai Select ที่ต่างกันไป โดยในที่นี้ยังมีการออกป้าย Thai Select Unique นั่นคือร้านที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นเด่นชัด จำแนกออกมาอีกตัว
_____________________________________________
หลายคนเห็นด้วยเพราะมองว่าจะเป็นการผลักดันคุณภาพอาหารไทยให้ดีขึ้น พร้อมช่วยทำให้คนไทยมองเห็นคุณค่าของการใช้วัตถุดิบดีมีคุณภาพมากขั้น
หลายคนยี้และเราเป็นหนึ่งในคนที่ยี้นโยบายนี้
อันที่จริงบ้านเรามี Thai Select มานานแล้ว แต่มาในรูปแบบของป้ายเชลล์ชวนชิม หมึกแดง ทั้งนี้ป้ายเหล่านี้มีเพื่อการันตีผู้กินว่ากำลังจะได้กินอาหารอร่อยซึ่งรับประกันโดยนักชิมมีชื่อ ซึ่งสุดท้ายจะจริงไม่จริงก็ตามแต่ใครคาดเดา แต่ป้ายเหล่านี้ไม่เคยออกมาจากหน่วยงานรัฐบาลอันเป็นผู้กำหนดทิศทางในการดำเนินนโยบายของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นป้ายพวกนั้นไม่เคยแบ่งแยกและกีดกันความเป็น”ไทย”
_____________________________________________
ทำไม Thai Select ถึงเป็นปัญหา?
ข้อที่ 1) การออกใบการันตีโดยรัฐสร้างพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อต่อการคอร์รัปชั่น โดยอย่างยิ่งจากบริษัทใหญ่ที่มีสิทธิ์มีเสียงในการเอาป้ายไปติดที่ผลิตภัณฑ์ของตน บังคับให้เจ้าของกิจการร้านอาหารต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดสรรเพื่อเอาคะแนนจากรัฐ
ข้อที่ 2) การตีกรอบวัฒนธรรมคือการสร้างความแตกแยก เมื่อมีการตีกรอบสิ่งที่เป็นไทย แล้วสิ่งที่อยู่นอกกรอบที่ตีไว้หล่ะ นั่นคือไม่ใช่ไทยอย่างนั้นหรือ แล้วหากจะบอกว่าเหมาะสมแล้วที่เลือกอุ้มชูสิ่งที่เป็นไทย แล้วความเกณฑ์เป็นไทยนั่นเอาใครและอะไรมาตัดสิน แล้วเมื่อรัฐเข้ามามีบทบาทเองก็นั่นแหละโยงเข้าไปที่ข้อ1คือผลประโยชน์ทับซ้อน และอย่าลืมว่าอาหารคือความนิยมส่วนบุคคล แล้วรัฐมายุ่มยามกับความเป็นส่วนตัวของประชาชน มันใช่เรื่องหรือไม่
ข้อที่ 3) ข้อสุดท้ายที่น่ากลัวที่สุด นั่นคือวิธีการคิดนโยบายของรัฐที่มุ่งเน้นแค่บังคับและควบคุม แต่ไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้กับการดำรงชีพของประชาชน นโบาย Thai Select บังคับให้ผู้ประกอบการต้องลงทุนมากขึ้นเพื่อเข้าเกณฑ์ของรัฐ แต่รัฐไม่ได้เสนอทางออกหรือทางช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถที่จะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ ทั้งที่รัฐสามารถเลือกที่จะเอาเงินภาษีที่มาลงกับนโยบายนี้ ไปอบรมความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการทำอาหารที่ถูกสุขลักษณะ หรืออบรมเกษตรกรให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้ามาพัฒนาผลผลิต การออกกฏมันง่าย ยิ่งออกกฏชุ่ยๆที่ไม่คิดหน้าคิดหลังยิ่งง่ายมาก
_____________________________________________
สุดท้ายเราต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า รัฐบาลไทยอยากจะทำให้ประชาชนเชื่องถึงขั้นควบคุมว่าเราจะต้องเอารสชาติเข้าปากกันแล้วหรือยังไง แล้วทำไมเรื่องส่วนตัวมันถึงกลายเป็นเรื่องของรัฐไปได้ ไม่เข้าใจเลยจริงๆ
#มิตรสหายท่านหนึ่ง