ตำราประวัติศาสตร์ของยุโรปสมัยใหม่ จะต่างจากจีนแบบจารีตขงจืออย่างหนึ่ง คือจีนสนใจคน ยุโรปสนใจระบบ
ตำราประวัติศาสตร์จีน พิจารณาประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่มักจะมองจากสายตาของมนุษย์
ตัวอย่างเช่น เมื่อเราอ่านสามก๊ก เรารู้ว่าโจโฉ เล่าปี่ ซุนกวนตัดสินใจอย่างไร และมันส่งผลกับตัวโจโฉ เล่าปี่ ซุนกวน หรือคนของเขาอย่างไร
เรารู้ว่าการตัดสินนั้นมีปัญญา หรือโง่ จากผลที่ตามมาต่อบุคคล
ประวัติศาสตร์จีนโฟกัสไปที่คน พูดถึงความฉลาด และการตัดสินใจของคน
เรารู้ว่ารัฐของสู่ เว่ย อู่ มีใครเป็นแม่ทัพ เป็นกุนซือบ้าง แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าโครงสร้างรัฐของสู่ เว่ย อู่ เป็นอย่างไร
พวกเขามีที่ปรึกษากี่คน ตำแหน่งเรียกว่าอะไรบ้าง มีระบบการประชุมและตัดสินใจอย่างไร ใครสั่งใคร ระบบการเก็บภาษีเป็นอย่างไร การค้าเป็นอย่างไร อะไรเป็นสินค้าสำคัญของแคว้น เราไม่รู้ ดูเหมือนเรื่องพวกนี้จะไม่ใช่เรื่องที่นักปราชญ์ขงจือจะสนใจหยิบยกมาวิเคราะห์
หรือมักจะอธิบายสาเหตุของเหตุการณ์เป็นเพราะการตัดสินใจส่วนบุคคลเช่น "ราชวงศ์หมิงล่ม เพราะ อู๋ ซานกุ้ย เปิดประตูให้แมนจู"
ในขณะที่ การศึกษาประวัติศาสตร์ของยุโรปสมัยใหม่จะมองไปคนละอย่างกัน พวกเขาสนใจว่า เซเนทมีทั้งหมดกี่คน ที่มามาจากไหน ประชนในเมืองนั้นมีกี่ชนชั้น ทหารโรมันมีอาวุธอะไรบ้าง เมืองโรมใช้เทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรมอย่างไร สินค้าสำคัญคืออะไร ชาวโรมสร้างฐานะจากอะไร
ถ้าถามว่าทำไมโรมล่ม คำอธิบายแบบยุโรปสมัยใหม่ก็จะอธิบายแบบเป็นโครงสร้างสังคม อธิพลทางศาสนา และสภาวะแวดล้อม
เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์แบบจีนในจารีตเดิม เราจะพบว่าความรุ่งเรืองมาจากการตัดสินใจที่ดีของคน การเป็นคนเก่งคนดี การเลือกใช้คนเก่งคนดีมาทำงาน
แต่เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์แบบยุโรป เราจะพบว่าความรุ่งเรืองมาจากระบบที่ดี การมีโครงสร้างการเมืองที่ดี เทคโนโลยีที่ดี มีการผลิตสินค้า และระดมทรัพยากรได้ดี
จริงๆประวัติศาสตร์แบบยุโรปมีแนวโน้มจะมองสังคมเป็นเครื่องจักร และมนุษย์เป็นฟันเฟืองหนึ่งของระบบ เหมือนมองจากสวรรค์ลงมา ในขณะที่แบบจีนมองในมุมของมนุษย์กว่า เป็นมุมมองของคนที่อยู่ในเหตุการณ์กว่า
ดังนั้นในการอ่านประวัติศาสตร์จีนเราจะรู้สึกทึ่งกับความฉลาดของปราชญ์โบราณ แต่เมื่ออ่านประวัติศาสตร์ยุโรป เราจะรู้สึกว่าเราฉลาดกว่าเสมอ เพราะเรารู้มากกว่าคนสมัยนั้นแล้ว
ผมเดาเอาว่า นักประวัติศาสตร์ยุโรปตั้งแต่ยุคกลางคงพยายามมองโลกด้วยสายตาของพระเจ้า และนักคิดที่เอามาวิเคราะห์ในสมัยใหม่พยายามดูสังคมในฐานะฟังเฟืองหนึ่ง ที่ดำเนินไปตามกฎบางอย่างซึ่งต้องอธิบาย เหตุ-ผลได้
ในขณะที่ปราชญ์ขงจือของจีนบันทีกเรื่องราวของผู้ที่ได้อาณัติสวรรค์ เพื่อให้ใช้สั่งสอนลูกหลานให้ตัดสินใจเลือกทางที่ฉลาด และถูกต้อง โดยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ที่เคยมีมา (เช่น เจินกวนเจิ้งเย่า ที่สรุปจากประวัติศาสตร์ว่าการมีขันติยธรรมของกษัตริย์ทำให้บ้านเมืองรุ่งเรือง หรือฉางตวนจิงที่สรุปว่าคนชิบหายเพราะไม่ประยุคปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์)
คนไทยคุ้นชินกับการศึกษาแบบจีนขงจือที่ตกสมัยไปนานแล้ว แต่ไม่ค่อยศึกษาจากมุมวิเคราะห์แบบตะวันตก จึงมักจะมองว่าปัญหาต่างๆเกิดจากการตัดสินใจที่ไม่ดี หรือโง่ของบุคคล
แต่เราต้องมองประวัติศาสตร์จากทั้งสองมุมมอง ทุกวันนี้แม้แต่ประเทศจีนเองก็ศึกษา ค้นคว้า และสอนประวัติศาสตร์จากวิธีของตะวันตกสมัยใหม่ด้วยแล้ว
เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์จากมุมมองของตะวันตก เราจะพบว่า หลายครั้ง มนุษย์ตัดสินใจด้วยความดี อย่างเห็นส่วนรวม สุดความสามารถ สุดปัญญาแล้ว แต่มุมมองที่จำกัดของยุคสมัยนั้นทำให้มันได้แค่นั้นจริงๆ
อย่างเมื่อเราเรียนเรื่องของพี่น้องกรักคุส กับความพยายามของมารีอุส เรารู้ว่ามันทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่พวกเขาทำมันสุดทางจากมุมมองที่จำกัด และทรัพยากรที่พวกเขามีแล้ว
พวกเขาไม่ใช่พระเจ้า เป็นมนุษย์ จากขอบเขตที่พวกเขารับรู้ พวกเขาทำได้ดีที่สุดแค่นั้น
โครงสร้างของรัฐ ปริมาณการผลิตที่จำกัด และการขาดความรู้บีบบังคับให้ผลมันออกมาแบบนั้นจริงๆ
กลายเป็นว่าเจตนาดีนำไปสู่ผลร้าย พวกเขาฉลาดที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับว่าคนจะเลวหรือโง่เลย
ในมุมนี้ การหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่เราเรียนจากอดีตได้ จึงต้องแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างของรัฐ และเศรษฐกิจ
ไม่มีประโยชน์ที่จะมาด่าว่าใครโง่ หรือใครตัดสินใจพลาด
ในคำภีร์โจอี้บอกว่า "ความผิดพลาดครั้งแรกคือเยาว์ความ แต่ถ้ามีครั้งที่สอง หรือสาม คือความโง่"
มนุษยชาติเคยเยาว์ เราทำผิดมาแล้ว แต่คนที่ไม่เรียนจากความผิดพลาด ไม่ยอมเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น ไม่ค้นคว้าจนเข้าใจที่มาของปัญหาที่แท้จริง และไม่แก้ไขรากของปัญหา นั่นแหละคือความโง่
แต่ดูเหมือนประเทศของเราจะไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์อะไรเลย ก็เลยโง่ซ้ำๆ
#มิตรสหายท่านหนึ่ง