ให้ลดราคานำ้มัน ....ผลประโยชน์จะตกกับใคร? ....28 พค.2561
วิวาทะพลังงานกลับมาร้อนแรงอีกวาระหนึ่ง มีการงัดข้อมูลต่างๆของทั้งสองฝ่ายออกมาชักจูงโน้มน้าวต่างๆนาๆ ซึ่งผมสังเกตุดู ก็เป็นการเลือกสรรข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับแนวทางการรณรงค์ของฝ่ายตน บางครั้งก็เป็นข้อมูลที่ไม่ครบไม่เกี่ยวกัน เช่น เอาราคาขายปลีกสุดท้ายมาเทียบให้ดูเฉยๆ ไม่บอกรายละเอียดด้านภาษี แล้วเลือกแต่จะเทียบกับประเทศที่อยากเทียบ หรือไม่ก็เลือกคัดสรรข้อมูลในวัน ในช่วงเวลาไม่ปกติมาแสดง
วันนี้ผมก็เลยขอเอางานวิจัยด้านวิชาการ มาแสดงเพื่อโน้มน้าวความเชื่อฝั่งของผมบ้างนะครับ
ในงานวิจัยของIMF เมื่อปลายปี 2558 เรื่อง “The unequal benefits of fuel subsidies revisited : Evidence for developing countries.” ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่าการแทรกแซงด้านราคาในพลังงานนั้นมีผลเสียมากมาย ทำให้เกิดการบิดเบือนหลายด้าน และที่สำคัญ ผลประโยชน์จากการแทรกแซงอุดหนุนนั้น(ซึ่งก็คือต้นทุนของประเทศ ของประชาชนทุกคนแหละครับ)กลับไปตกกับคนรวยคนมั่งมีเสียเป็นส่วนใหญ่ คนจนได้รับกระเส็นกระสายแต่เพียงส่วนน้อยถึงน้อยมากเท่านั้น
การวิจัยที่รวบรวมข้อมูลจากประเทศกำลังพัฒนา บอกว่า ทุกบาทที่มีการอุดหนุนราคาพลังงาน ผลประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อมจะตกกับคนที่รวย 20%แรกเฉลี่ย ถึง 45 สตางค์ ขณะที่กลุ่มคนรายได้น้อยที่สุด 20%สุดท้าย จะได้รับเพียง 7 สตางค์เท่านั้น …แต่ถ้าเอาผลทางตรง โดยเฉพาะนำ้มัน ถ้าลดราคาลงลิตรละ 1 บาท คนรวยสุดหนึ่งในห้าแรกจะได้ไปถึง 65 สตางค์ ขณะที่คนจนหนึ่งในห้าสุดท้าย จะได้แค่ 2.4 สตางค์เท่านั้น ต่างกันถึง 27 เท่าตัว (ทั้งหมดดูรายละเอียดในชารต์และตารางที่ผมนำมาโพสต์ด้านล่างได้นะครับ หรือจะเข้าไปอ่านทั้งเปเปอร์ก็ได้ในhttp://www.imf.org/external/pubs/ft/wp/2015/wp15250.pdfครับ)
ขอแปลขยายให้ง่ายๆอีกทีนะครับ …ถ้าเราลดภาษีนำ้มันลิตรละ 1 บาท เราใช้นำ้มันเฉลี่ย 90 ล้านลิตร/วัน ปีนึง 32,900 ล้านลิตร ปีหนึ่งรัฐก็จะเสียรายได้ไป 32,900 ล้านบาท(ต้องไปหาเพิ่มทางอื่น หรือลดค่าใช้จ่ายลง) แต่ประโยชน์จะตกกับคนรวยที่สุด13 ล้านคน(ที่มีผมอยู่ในนั้นด้วย)เสีย 21,385ล้านบาท ได้คนละ 1,645 บาท ขณะที่คนจนสุด13ล้านคน แบ่งกันไป 790ล้านบาท ได้แค่คนละ 61บาทเท่านั้น ……แล้วจะลดภาษี หรืออุดหนุนราคาไปทำไมครับ ให้ประโยชน์มาตกกับคนมีรถแรงๆสี่คันอย่างผมทำไม
จะว่าไป ในทางกลับกันนั้น ภาษีนำ้มัน นับเป็นภาษีที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุดอันหนึ่ง คือ เก็บจากคนรวยมากกว่าเป็นลำดับขั้นไป(ดูตารางอีกทีได้นะครับ) ซึ่งก็เป็นการสมควร เพราะคนรวยย่อมใช้สาธารณูปโภคมากกว่า ใช้ถนนหนทางมากกว่า ก็ควรจ่ายมาก ……ที่จริงเราควรขึ้นภาษีนำ้มันมากกว่านี้อีกด้วยซำ้ แล้วเอาเงินไปช่วยคนจน ช่วยคนด้อยโอกาสแบบเต็มๆจะดีกว่ามาก (ถ้าคนจนรับภาระไม่ไหว ก็แจกคูปองสวัสดิการไปตรงๆได้เลยครับ)
นี่ว่าในส่วนของภาษีและค่าเงินกองทุนต่างๆเท่านั้นนะครับ ในส่วนของค่าการกลั่น และค่าการตลาดที่มีคนเเลือกเอาข้อมูลอดีตวันที่มันตำ่ผิดปกติ มาโน้มน้าวต่างๆ ผมได้เคยอธิบายไว้แล้ว จะหาโอกาสมาอธิบายอีกทีนะครับ
ขอเรียนว่า การปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดเป็นหลัก โดยรัฐเข้ากำกับ เข้าแทรกแซงเท่าที่จำเป็นอย่างที่ประเทศไทยทำอยู่ เป็นนโยบายพลังงานที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการแทรกแซงเกินควร ซึ่งจะก่อให้เกิดการบิดเบือน และเป็นปัญหาระยะยาวมากกว่าครับ โดยเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีแหล่งพลังงานไม่พอเพียงกับความต้องการอย่างเรา ซึ่งก็มีงานวิจัยต่างๆยืนยันมากมาย อย่างตัวอย่างที่ผมยกมา (ถึงตอนนี้ ก็คงมีคนมาด่าว่า IMFเป็นทาสทุนพลังงานอีกแหละครับ)
ก่อนที่จะเลือกเชื่อ จะเลือกสรุปอะไร ลองฟังความให้รอบด้าน แล้วใช้หลัก”กาลามสูตร”คิดเสียก่อนนะครับ
ปล. ผมเป็นสมาชิกของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (Energy Reform for Sustainability) ครับ
#มิตรสหายท่านหนึ่ง