สังคมสามจังหวัดกำลังใกล้จะล่มสลายทางอัตลักษณ์ศาสนา : ว่าด้วยเรื่องฮิญาบ
ในฐานะที่ผมเป็นคนที่เติบโตมาในสามจังหวัดและมีโอกาสเดินทางไปหลายพื้นที่ของประเทศไทยเพื่อสอนศาสนา
ผมค่อนข้างมีความเห็นว่า สามจังหวัดเป็นที่เดียวที่เรื่องฮิญาบกลายเป็น สัญญะของความเป็นมุสลิมที่ใช้เป็นเกณฑ์แบ่งแยกว่าใครคือมุสลิมและต่างศาสนิก
สักสิบกว่าปีก่อนหรือยี่สิบปีก่อน พื้นที่ในเขตชนบทนอกเมือง "ในหลายพื้นที่" แทบไม่มีคนพุทธปรากฏอยู่เลย บางตำบลนี่มุสลิมเกือบจะ 100% หรือถ้ามีก็แค่ครัวเรือนไม่กี่หลัง (่ส่วนใหญ่ชาวพุทธจะมีเยอะในตัวเมืองหรือในบางเขตของย่านชนบทเป็นเขต ๆ ไป)
ความเป็นสัญญะของการเป็นมุสลิมในฮิญาบตามพื้นที่ชนบทนั้นจึงมีสูงมาก
ชนิดที่ว่าหากเห็นสตรีไม่ใส่ฮิญาบเดินอยู่แถวนอกเมือง คุณจะรู้สึกแปลกตาและแทบจะคิดไปเลยว่าสตรีคนนั้นเป็นต่างศาสนิก
นั่นหมายความว่า ในพื้นที่สามจังหวัดฮิญาบแทบจะเป็นมาตรการในสังคมซึ่งสตรีจำนวนมากเลยไม่กล้าฝ่าฝืนหลักปฏิบัตินี้ แม้ในทางความจริงก็มีการสวมใส่ฮิญาบผิดรูปแบบศาสนาให้เห็นอยู่ตลอด
นักวิจัยเรื่องกฎหมายอิสลามในอาเจะห์จากมหาวิทยาลัยออสเตรเลียท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า ขนาดว่าอาเจะของอินโดนีเซียประกาศใช้กฎหมายอิสลามแล้ว ทว่าความเคร่งครัดของคนในหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องฮิญาบกลับเบากว่าคนสามจังหวัดภาคใต้
ความจริงแล้ว ตัวตนและสถานะของฮิญาบในสามจังหวัดกำลังค่อย ๆ เปลี่ยนไปในทิศทางที่ออกจากหลักการศาสนามากขึ้น
ในเขตตัวเมืองของปัตตานีและยะลา ผมพบว่าแนวโน้มของการ "เฉย ๆ" กับการไม่ใส่ฮิญาบเริ่มมีมากขึ้น สตรีจำนวนมากเริ่มกล้าถอดฮิญาบใส่ขาสั้นไปวิ่งออกกำลังกายตามสวนสาธารณะและดินเนอร์ตามร้านค้า
ขณะที่ในด้านหนึ่งก็มีคนอีกกลุ่มที่แปลงฮิญาบเป็นแฟชั่น ถึงขนาดมีเดินประกวดโชว์อะไรสารพัด
ผมมองว่า อีกสิบปีข้างหน้า การทิ้งฮิญาบในเขตตัวเมืองอาจจะเพิ่มมากกว่านี้หากไม่มีกระบวนการอะไรเลย และเมื่อนั้นการชาชินกับการไม่สวมฮิญาบก็จะขยายตัวออกไปตามชนบทจนน่าจะไม่เกินคนรุ่นเดียว สามจังหวัดคงจะล่มสลายทางอัตลักษณ์อิสลามและเป็นเหมือนสังคมภาคส่วนอื่น ๆ ของประเทศที่การไม่ใส่ฮิญาบเป็นเรื่องปกติที่เห็นกันถมเถ หรืออาจจะมาถึงวันที่เราสามารถเห็นสตรีไม่ใส่ฮิญาบเดินป้วนเปี้ยนอยู่หน้ามัสยิดแบบที่เห็นกันได้ตาม กทม.
ที่ผมเป็นห่วงที่สุด คือ คนมลายูมุสลิมในพื้นที่ที่ไปรับการศึกษาในโลกยุคใหม่และขนเอาเรื่อง แนวคิดสิทธิเสรีภาพและอิสระในการไม่ใส่ฮิญาบมาเสนอในท้องที่มากขึ้น ๆ กระแสหนึ่งที่ผมเห็นว่ามาควบคู่กับเรื่องรักร่วมเพศคือ การเรียกร้องให้สังคมสามจังหวัดลดกติกาทางสังคมที่กดดันสตรีเรื่องฮิญาบ คนพวกนี้พยายามรณรงค์ให้สตรีมีสิทธิจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ ไม่ต้องการให้ฮิญาบเป็นระเบียบทางสังคมด้วยสโลแกนสวยหรูว่า "สตรีมีสิทธิเหนือร่างกายนาง" เป็นต้น
(มีต่อ)