#คอลัมน์คนไทยนี้โยงเก่งจัง
--------------------------------------------------------------
ความเป็นไทยที่แท้ทรูอยู่ตรงไหนใน "คุกกี้เสี่ยงทาย"
--------------------------------------------------------------
สำหรับใครที่ไม่ใช่โอตะ หรือโวตะ หรือโอชิ ก็อยากให้ทราบไว้นะครับว่า BNK48 ไม่เพียงโปรโมทภาพลักษณ์ของประเทศในเชิงที่เป็นภาพจำของทัวริสต์ดาดๆ ทั่วไปเท่านั้น แต่พวกเขายังนำเสนอการดิ้นรนต่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจและสงครามการกดขี่ทางชนชั้นของชนชั้นแรงงานอีกด้วย
ที่จริงแล้วคำว่า BNK48 ที่เป็นชื่อวงนั้นก็คือคำย่อมาจาก BANGKOK 48 ซึ่งก็คือเมือง “กรุงเทพฯ” หรือ “บางกอก” เช่นเดียวกับวงเกิร์ลกรุ๊ปต้นแบบอย่าง AKB48 ที่ย่อมาจากย่าน Akihabara นั่นเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การตั้งชื่อวงโดยใช้เมืองหลวงเป็นสำคัญไม่ใช่เพราะสักแต่จะตั้งตามเจ้าของแฟรนไชส์เท่านั้น แต่วง BNK48 ยังเลือกชื่อนี้อย่างจงใจเพื่อสื่อถึงสภาพเศรษฐกิจและอำนาจการปกครองแบบรวมเข้าสู่เมืองหลวง และสมาชิกวง BNK แต่ละคนก็เป็นสัญลักษณ์ของคนต่างจังหวัดที่ต้องหลั่งไหลเข้ามาใช้แรงงานตามกระแสธารเศรษฐกิจนั่นเอง
ในวง AKB48 ซึ่งถือได้ว่าเป็น ‘โปรโตไทป์’ ของ BNK48 ก็มีเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” เช่นเดียวกับทุกๆ สปีชีส์ 48 แต่จะต่างกันก็ตรงที่เพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” ของ BNK48 นั้นได้ดัดแปลงเพลงอย่างละเอียดประณีตและแหลมคมเพื่อสะท้อนการต่อสู้ดิ้นรนของคนทำงานและการยอมรับอำนาจเบ็ดเสร็จของชนชั้นกรรมาชีพ
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมคนต่างจังหวัดถึง “แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ แต่เธอไม่รู้บ้างเลย” นั่นก็เพราะว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรวมไปถึงเศรษฐกิจทุกภาคส่วนถูกรวมไว้ที่เมืองหลวงไว้แล้ว - แต่ “แอบส่งใจให้นิดนิดแต่ดูเธอช่างเฉยเมย” - ถึงแม้จะมีความพยายามในการปฏิรูปแต่ทางรัฐบาลก็ไม่เคยสนใจอย่างจริงจัง จึงเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาการหลั่งไหลเข้าทำงานเพื่อเสี่ยงหาอนาคตในสภาพสังคมแออัดและย่านชานเมืองที่สภาพเหมือนค่ายลี้ภัย นั่นก็เพราะโครงสร้างสังคมเช่นนี้ทำให้พวกเขา (แรงงานต่างถิ่น) คิดว่า “เอาล่ะเตรียมใจไว้หน่อยมันจะหัวก้อยต้องเสี่ยงกัน”
จึงไม่น่าแปลกใจอีกเช่นกันว่าทำไมแรงงานต่างจังหวัดถึง “รู้ทั้งรู้ว่าเค้าใช้อะไรตัดสินใจ” เพราะเราได้ผ่านปัญหานี้มาอย่างยาวนาน ทั้งๆ ที่เรารู้ว่า “ต้องน่ารักใช่มั้ยที่ใครเค้าคิดกัน” เพราะมีคนน่ารักกลุ่มหนึ่งได้ผลประโยชน์จากการรวมศูนย์เช่นนี้ไว้ แต่ในท้ายที่สุดพวกเขา (แรงงาน) ก็ต้องยอมรับสภาพสถานะของตนเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเช่นนี้ และยอมรับอำนาจอย่างสมบูรณ์ของระบบ และได้แต่ตัดพ้อว่า “ฉันขอแค่ให้เค้าลองมองที่ข้างใน คงจะดีถ้ามีใจให้กับฉัน”
ไม่น่าแปลกใจเลย ว่าทำไม “คุกกี้เสี่ยงทาย” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของสำนึกทางชนชั้นที่วง BNK48 ต้องการจะสื่อ เพราะแรงงานต่างถิ่นในกรุงเทพซึ่งเป็นภาพแทนของประชาชนคนไทยส่วนใหญ่จะยังไม่สามารถหลุดพ้นจากชนชั้นของตัวเองได้จนกว่าจะ “เสี่ยงทาย” เข้ามาทำงานเพื่อเข้า “มาลุ้นดูสิอาจจะเจอความหวังที่ยังรออยู่” อ่ะครับ
---------------------------------
30 Jan 2018 by Aunnism
---------------------------------
#มิตรสหายท่านหนึ่ง