ผมทราบมาว่าที่ McGill University กับ MIT มีวิธีการสอนอย่างหนึ่งที่มีประสิทธิผลมาก คือ อาจารย์หา open problems มา แล้วเอามาคุยกับนักศึกษาในชั้นเรียนว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ยังไง เพราะว่ามันเป็น open problems จึงยังไม่มีใครทราบคำตอบ รวมทั้งตัวอาจารย์เองด้วยนะครับ
นักศึกษาก็จะเสนอวิธีแก้ปัญหามา อาจารย์ก็จะฟัง แล้วพิจารณาว่ามันผิดตรงไหนไหม หากผิด ก็จะให้คำแนะนำ ให้ความคิดเห็นว่าน่าจะทำแบบนั้นแบบนี้ดีกว่านะครับ การร่วมกันคิดแบบนี้ดำเนินไปตลอดทั้งเทอม จนท้ายที่สุดก็จะได้งานวิจัยตีพิมพ์ออกมาเป็นเรื่องเป็นราว
ผมว่าวิธีสอนแบบนี้มีประสิทธิผลมากที่สุดครับ เพราะนักศึกษาได้ฝึกคิดพร้อมกับได้รับคำแนะนำแบบทันที (immediate feedback) จากอาจารย์ นอกจากนี้ ยังได้เห็นอาจารย์คิดแบบสด ๆ ให้ดูด้วย ซึ่งหลายครั้งก็จะผิดเหมือนกัน การเตรียมการสอนมาก่อนจะไม่มีอะไรแบบนี้ครับ
เทอมนี้ผมเลยลองเอาวิธีแบบนี้มาใช้สอนกับเด็กปริญญาตรี ใช้ randomized algorithms ในการแก้ปัญหา wireless sensor network เราจะคุยกันแบบสด ๆ หน้ากระดานดำ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน นักศึกษาเตรียม solution มาให้ผมดู ผมก็จะบอกว่ามันถูกมันผิด มีประสิทธิภาพน้อยมากแค่ไหน สอนแบบนี้สนุกมากครับ นักศึกษาได้เห็นวิธีการคิดของอาจารย์โดยที่ไม่มีการเตรียมตัวอะไรมาก่อน จะเห็นว่าอาจารย์ก็คิดผิดได้เหมือนกัน ที่สำคัญ เขาจะเห็นว่าถ้าคิดผิดแล้ว ควรทำอย่างไรต่อครับ เท่าที่ทำมาก็รู้สึกว่าได้ผลดีมากครับ
ผมคิดว่านักศึกษาได้เรียนรู้อะไรไปเยอะเลย เพราะเป็นการเรียนตัวต่อตัวกับผม คิดผิดคิดถูก ก็เห็นกันเดี๋ยวนั้นครับ ผลงานนี้น่าจะเอาไปตีพิมพ์ได้ในท้ายที่สุดครับ
ใครอยากลองดูก็ได้นะครับ แต่จะต้องจำกัดจำนวนนักศึกษาและเลือกนักศึกษานิดหนึ่งครับ
Cc : Woratham Kh