"คนจนเท่าที่รู้
---
ครึ่งปีที่ผ่านมามีโอกาสได้ทำสารดคีเรื่อง "บ้านคนจน" ทำให้ได้ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ นั่งคุย และเรียนรู้จากพี่ๆ น้าๆ ผู้มีรายได้น้อยอยู่บ้าง การลงพื้นที่ไปทำสารคดีในสถานที่จริง ได้พบเจอผู้คนที่มีปัญหาตัวเป็นๆ ทำให้มองเห็น "ความจริง" ของปัญหาชัดขึ้น เข้าใจมากขึ้น หลายเรื่องก็สร้างความแปลกใจและพลิกมุมที่เคยมองคนจน จากที่เคยมองผู้มีรายได้น้อยจากระยะไกลทำให้เราคิดเองเออเองว่า ทำไมเขาไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเขาจนเพราะเขาโง่ โลภ กินเหล้า หรือเปล่า
...
"บ้าน" สำหรับคนจน
---
สารคดีของพวกเรา (วันโอวัน) ได้รับโจทย์มาจาก พอช. ทำให้โฟกัสกันที่เรื่องที่อยู่อาศัยของคนจน แต่เราตั้งใจกันว่าจะไม่ทำแค่เรื่องบ้านเท่านั้น แต่อยากฉายภาพปัญหาของคนจนโดยตั้งคำถามไปไกลกว่านั้นว่า "ปัญหาคนจนไม่มีบ้านนั้นมันสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศนี้อย่างไรบ้าง"
การที่คนจนไม่มีบ้าน ไม่สามารถตอบกันง่ายๆ ได้แค่ว่า เพราะพวกเขาไม่มีเงินแต่ดันอยากได้บ้าน ก็จริงครับ บ้านไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ถ้าลองได้คุยกับคนยากคนจน การมีบ้านเป็นของตัวเองนั้นสร้างความรู้สึกที่มั่นคงภายในใจอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาใช้ชีวิตอยู่บนความไม่แน่นอนตลอดเวลา ไม่รู้ว่าบ้านที่คุ้มหัวอยู่นั้นเมื่อไหร่จะโดนไล่รื้อ แล้วต้องย้ายไปที่ไหน การมีบ้านจึงเป็นเหมือนฐานรากของชีวิต ซึ่งถ้าหมดห่วงตรงนี้ไปก็จะได้ใช้เวลาและความคิดไปพัฒนาชีวิตส่วนอื่นๆ ต่อไป
แล้วบ้านที่เขาอยากได้กันก็ได้หรูหราอะไรเลย เป็นบ้านที่มีพื้นที่พออยู่อาศัยโดยไม่ต้องโดนไล่รื้อเท่านั้นเอง บ้านจึงมิใช่ความโลภหรือเครื่องแสดงฐานะ หากคือความจริงอันจำเป็นสำหรับชีวิต
หากมองด้วยสายตาคนชั้นกลางซึ่งมีความมั่นคงเป็นจำนวนเงินในบัญชี หรือรายได้จากเงินเดือนที่เข้าธนาคารทุกเดือน เราอาจมีความมั่นคงในใจ และไม่ได้คิดว่าการมีบ้านเป็นของตัวเองมีความสำคัญ บางครั้งอาจเผลอคิดไปว่า ความอยากมีบ้านเป็นความต้องการที่ฟุ่มเฟือยเกินไป แต่ทัศนะเช่นนี้ไม่สามารถนำมาตัดสินคนยากจนที่มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าเดือนหน้าจะมีคนจ้างเขาไปทำงานก่อสร้างไหม ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีงานไหม ไม่รู้ว่าข้าวที่ปลูกไว้จะมีราคาเท่าไหร่ ฯลฯ
บ้านของคนจนกับบ้านในความหมายของคนชั้นกลางอาจจะไม่ได้มีความหมายตรงกันเสียทีเดียว จึงไม่ยุติธรรมนักหากจะตัดสิน "ความอยากมีบ้าน" ด้วยไม้บรรทัดเดียว
...
แล้วทำไมพวกเขาไม่อยู่บ้านที่ต่างจังหวัดกันเล่า
---
คนจนเมืองจำนวนหนึ่งคือแรงงานที่เข้ามาทำงานในเมือง บางคนเป็นเกษตรกร บางคนก็ทำงานรับจ้างที่ต่างจังหวัด แต่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนนี้ งานในเมืองมีมากกว่างานในต่างจังหวัด เมื่อว่างจากการปลูกข้าว คนจำนวนหนึ่งก็เข้ามาทำงานหาเงินในเมือง อยู่นานเข้าก็ปักหลักอยู่ที่นี่
นี่เป็นปัญหาที่ใหญ่ไปกว่า "ความโลภ" ของคน หากมันสะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันเชิงระบบ หรือเชิงโครงสร้าง ที่ความเจริญและทรัพยากรทั้งหลายถูกนำมาลงและจัดสรรให้กับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ในระดับที่แตกต่างมหาศาลจากต่างจังหวัด
เมื่อความเจริญและทรัพยากรทั้งหลายอยู่ที่นี่ ทั้งถนน รถไฟฟ้า สาธารณูปโภคต่างๆ กระจุกอยู่ที่นี่ ธุรกิจการค้าและงานต่างๆ ก็เลยมากระจุกรวมอยู่ที่นี่เช่นกัน
การมาของแรงงานต่างจังหวัดไม่ได้เกิดจากความโลภ หากเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อเงินคือปัจจัยในการดำรงชีพ อยากมีเงินเพื่อมีชีวิตที่ดีก็ต้องเคลื่อนที่เข้าหาแหล่งรายได้ และถ้าจะยุติธรรมก็คงต้องยอมรับนะครับว่า คนจนก็มีโอกาสฝันถึง "ชีวิตที่ดีขึ้น" เช่นกัน มิจำเป็นต้องมีชีวิตแบบพอมีพอกินตามภาพโฆษณาไปจนตาย เขาก็อยากให้ลูกหลานเขามีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าคนรุ่นเขาเหมือนกัน
ทรัพยากรที่เหลื่อมล้ำจึงนำมาซึ่งปัญหาของความเหลื่อมล้ำในส่วนบุคคล
คนเมืองโชคดีที่ได้เปรียบจากนโยบายพัฒนาเมือง เราไม่ได้รวยกว่าเพราะเราขยันเท่านั้น แต่โดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจเรายังได้เปรียบกว่าหลายๆ คนในสังคมเดียวกัน เราเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า เราอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโอกาส ทั้งการศึกษา การงาน สาธารณสุข กระทั่งอำนาจ
การบอกว่า "คุณดูผมสิ ผมยังทำได้ ทำไมคุณจะทำไม่ได้" จึงอาจไม่ยุติธรรมสักเท่าไหร่ เราอาจต้องมองปัญหานี้ให้กว้างและลึกกันขึ้นอีกสักหน่อย ก่อนจะชี้นิ้วสอนใครด้วยความปรารถนาดีแบบเข้าใจผิด
...
[มีต่อ]