ที่สิงคโปร์มีการรณรงค์เตือนสติให้ผู้คนหันมายั้งคิดก่อนที่จะถ่ายรูปหรือคลิปไปประจานคนอื่นในโซเชียลเน็ตเวิร์ก และแทนที่จะรีบถ่ายคลิปทำตัวเป็นตำรวจศีลธรรม เขาแนะให้เราถามใจตัวเองก่อนว่าควรจะทำสิ่งที่เหมาะกว่าหรือไม่
ตอนนี้เท่าที่เห็นมีการแชร์ภาพโปสเตอร์แคมเปญของ Singapore Kindness Movement (ขบวนการสิงคโปร์เอื้อเฟื้อ) ภาพแรกเป็นผู้ชายกำลังงีบบนเก้าอี้สำรองโดยมีผู้หญิงที่กำลังท้องป่องกำลังยืนประจันหน้าอยู่ พร้อมกับคำโปรยว่า "จะแชะภาพ หรือแตะไหล่ปลุก - อยู่ที่ตัวคุณว่าจะเอื้อเฟื้ออย่างไร" หมายความว่า แทนที่จะรีบถ่ายรูปประจานชายคนนี้ เราควรปลุกเขาจะดีกว่าไหม? เพราะอาจมีเหตุผลอื่นนอกจากจะแย่งที่นั่งคนท้องก็เป็นได้
อีกโปสเตอร์เป็นรูปพนักงานเสิร์ฟกับลูกค้ากำลังแสดงอาการฉุนเฉียวที่อีกฝ่ายทำน้ำหกใส่ พร้อมคำถามว่า "คุณจะทำอย่างไร" ระหว่าง 1. ไม่ทำอะไร 2. เข้าไปยุ่ง 3. โหลดภาพโชว์ชาวเน็ต - สำหรับผมประเด็นของภาพไม่ได้อยู่ที่เราควรทำอะไร แต่อยู่ที่เราไม่ควรทำอะไรมากกว่า นั่นคือ การถ่ายภาพไปโชว์คนอื่นในสถานการณ์ที่ไม่ควรทำ
แน่นอนว่า การถ่ายรูปถ่ายคลิปมีส่วนช่วยให้เราทันกับสถานการณ์มากขึ้น และช่วยเก็บหลักฐานในกรณีที่มีการทำร้ายกัน แต่หลายกรณีคลิปเหล่านี้ละเมิดความเป็นส่วนตัว เป็นการสร้างความอับอายต่อธารกำนัล (Public Shaming) และเป็นการประจานกันในโลกออนไลน์อย่างซึ่งๆ หน้า (Online shaming) เช่นเดียวกับกรณีตามหาคนผิดในฟอรั่มหรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก หลายครั้งที่ชาวเน็ตช่วยกันเป็นนักสืบจนพบเบาะแส แต่หลายครั้งก็มันมือจนกลายเป็นการละเมิดอย่างรุนแรงเช่นกัน
บทความในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ส ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงคือ Don't shame online, right the wrong instead บอกว่าตอนนี้มีเหตุเกิดขึ้นในสังคมโซเชียลของสิงคโปร์ เมื่อเจ้าสาวคนหนึ่งไม่พอใจผลงานช่างภาพที่รับหน้าที่ในวันวิวาห์เพราะผลงานออกมาห่วยแตก เลยโพสต์ภาพแล้วบ่นในเฟซบุ๊คปรากฎว่ามีคนแชร์กันเป็นหมื่น ตอนแรกเจ้าสาวไม่ได้เอ่ยชื่อช่างภาพกับสตูดิโอ แต่ชาวเน็ตรู้สึกอยากมีส่วนร่วม (และคงจะเห็นใจนิดๆ ด้วย) เลยไปสืบกันเองจนรู้ตัว ต่อมาช่างภาพออกมาขอโทษทำให้กระแสต่อว่าเขาเบาลง แต่แล้วแทนที่เรื่องจะจบตัวเจ้าสาวกลับถูกชาวเน็ตสับแหลกด้วยว่าจัดการเรื่องนี้ได้แย่ทำให้เรื่องบานปลาย
จะเห็นได้ว่าชาวเน็ตเป็นสิ่งมีชีวิตที่อารมณ์วูบไหวรุนแรงเอาใจได้ยากมา ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเราไม่รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบกับความเห็นที่เราแสดงไป ตัวตนเราคนอื่นก็ไม่รู้ ที่อยู่ก็ไม่ทราบ ดังนั้นเราจึงรู้สึกลำพองที่จะพูดจาต่อว่าหรือประจานคนอื่นโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว เมื่อวิจารณ์หรือแชร์เรื่องเสียหายกันหลายๆ คนเข้าก็กลายเป็น Mob rule โดยไม่รู้ตัว ผมเห็นด้วยกับผู้เขียนบทความคือ Daryl Chin ที่บอกว่าบางทีเรื่องนี้ (และอีกหลายๆ เรื่อง) จะไม่วุ่นวายกันไปใหญ่ถ้าทุกฝ่ายมีใจเอื้อเฟื้อกันสักนิด
ส่วนตัวผมชอบชื่อบทความนี้มากเพราะบอกทุกอย่างที่เราควรทำในฐานะสมาชิกโลกโซเชียลนั่นคือ "อย่าประจานออกสื่อออนไลน์ ควรทำในสิ่งที่ถูกต้องจะดีกว่า"
#มิตรสหายท่านหนึ่ง