แต่ปัญหาคือ เมื่อมีการบังคับให้ดาวน์มากขึ้นเรื่อยๆ ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ สำหรับอสังหาฯ หน่วยแรก คนที่ทำงานใหม่ๆ ก็ไม่มีเงินก้อนจะมาดาวน์ คิดง่ายๆ ก็คือสมมติคนมีหน้าที่การงานดีๆ ที่เซียงไฮ้ อยากจะซื้อคอนโดราคาสัก 8 ล้านบาท สิ่งที่เขาต้องมีคือเงินสด 2 ล้านบาทเพื่อจะดาวน์ เพราะธนาคารจะให้กู้ได้เพียง 6 ล้านบาท ซึ่งคนทำงานทั่วๆ ไปวัยกลางคนไม่มีเงินก้อนขนาดนั้นอยู่แล้ว ดังนั้นคนจีนที่ทำงานทั่วไปจึงมีปัญหามากๆ ในการซื้ออสังหาฯ เพื่อการพักอาศัย และทำให้เกมของการซื้ออสังหาฯ เพื่อเก็งกำไรเลยกลายเป็นเกมของพวกเศรษฐีในจีนที่มีเงินสดอยู่ในมือจำนวนมากเท่านั้น (ซึ่งต่างจากเมืองไทยที่ชนชั้นกลางมนุษย์เงินเดือนทั่วไปก็สามารถ 'กู้ 100%” มาซื้อคอนโดสร้างใหม่เพื่อเก็งกำไรได้)
.
ดังนั้น นี่จึงเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากมองว่าเป็นเรื่องตลกร้ายและย้อนแย้ง เพราะจีนเป็นประเทศสังคมนิยม แต่คนกลับเก็งกำไรที่พักอาศัยกันสนุกสนานระดับที่คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ๆ มันแพงเกินไปจนซื้อไม่ไหว และถึงที่สุดทางการจีนก็ไม่ได้ทำอะไรในเชิงการ 'ควบคุม' ตลาดนี้ เพราะทางการจีนรู้ดีว่าถ้าไปยุ่งกับตลาดอสังหาฯ มูลค่าในระบบเศรษฐกิจจะรวนแน่ๆ และตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจอันน่าภาคภูมิใจก็จะเป็นไปไม่ได้อีก
.
ถ้าหากอธิบายง่ายๆ ภาคอสังหาฯ ของจีนนั้นใหญ่มากระดับที่ยุคพีกๆ ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเลขจากภาคอสังหาริมทรัพย์ และก็คงไม่ต้องกล่าวว่าถ้ากิจกรรมพวกนี้หยุดไปดื้อๆ มันจะไม่ใช่แค่ตัวเลขทางเศรษฐกิจในเชิงการผลิตหายไป แต่รายได้อันมหาศาลของมันที่หายไปก็จะไปกระทบการบริโภคทั้งระบบด้วย นี่จึงทำให้มันเป็นสิ่งที่ 'แตะไม่ได้' หรือไม่สามารถจะไปยุ่งได้อย่างไม่ระมัดระวัง ถ้าไม่ต้องการให้ระบบเศรษฐกิจปั่นป่วน
.
ดังนั้นระบบการผลิตอสังหาฯ เพื่อให้คนรวยจีนเก็งกำไรโดยไม่รู้ว่าสุดท้ายใครจะมีเงินซื้อมันเลยดำเนินไปได้เรื่อยๆ ในแง่หนึ่งก็ไม่ได้ต่างจากตลาดหุ้นในอเมริกาที่เงินทองทั่วโลกก็ไหลบ่าไปสร้างมูลค่าหุ้นที่เกินมูลค่าจริงของบริษัทไปเยอะมาก แต่มูลค่าของมันก็ขยายไปไม่หยุด เพราะทุกคนเชื่อว่าในระยะยาวยังไงมันก็โตขึ้น
.
จุดเริ่มหายนะของจีนเกิดจาก COVID-19 ที่ทำให้ 'กำลังซื้อ' ของพวกคนรวยหายไปจากตลาดอสังหาฯ พอกำลังซื้อหาย บรรดาบริษัทอสังหาฯ ก็ยังกู้เงินมาสร้างยูนิตใหม่ๆ ไม่หยุดแบบเดิมพันว่ากำลังซื้อจะกลับมาในที่สุด แต่สุดท้าย กำลังซื้อไม่กลับมา สร้างอสังหาฯ มาแล้วขายไม่ได้ สุดท้ายถึงเวลาต้องจ่ายดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้ ก็ไม่มีเงินจ่าย และนี่ก็คือเรื่องราวย่อๆ ของการ 'ล้ม' ของบริษัทอสังหาฯ เจ้าใหญ่ในจีนอย่าง Evergrande รวมถึงอสังหาฯ อีกหลายเจ้าที่ล้มต่อๆ กันมาเป็นโดมิโนมาตั้งแต่ปี 2021
.
มา ณ ปัจจุบัน ปี 2024 ทุกคนเหมือนจะตื่นจากความฝันและยอมรับความจริง ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนออกมายอมรับว่าจีนมีปัญหาด้านอสังหาฯ จริงๆ แต่ราคาอสังหาฯ ในตลาดจีนก็สะท้อนภาวะนี้ออกมาด้วย สำนักข่าวอย่างรอยเตอร์สรายงานว่า ราคาอสังหาฯ ยูนิตสร้างใหม่ในจีนราคาตกลงในรอบปีประมาณ 3.9 เปอร์เซ็นต์ เป็นราคาที่ตกมากสุดในรอบ 10 ปี และตัวเลขนี้ก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือพวกยูนิตอสังหาฯ สร้างใหม่เริ่มตั้งราคาสะท้อนมูลค่าจริงของอสังหาฯ ในจีนที่ราคาปัจจุบันนั้นสูงไป
.
ถามว่า ณ จุดนี้รัฐบาลจีนไม่ทำอะไรเลยหรือ? จริงๆ ตั้งแต่ Evergrande ล่มแรกๆ แล้วทางการจีนยังนิ่ง ทำให้หลายคนคิดว่ารัฐบาลจีนน่าจะต่างจากอเมริกาที่จะไม่มีการอุ้มภาคธุรกิจที่ทำตัวสุ่มเสี่ยงและปล่อยให้ล้มละลายไปตามกลไกตลาด แต่สุดท้ายในเดือนพฤษภาคม 2024 ทางการจีนก็ทำให้ประหลาดใจด้วยการประกาศอุ้มอุตสาหกรรมอสังหาฯ ผ่านการสั่งให้รัฐบาลในระดับมณฑลไปซื้อยูนิตอสังหาฯ ที่ขายไม่ออก มาทำ 'ห้องเช่าราคาถูก' ให้ประชาชนอยู่อาศัย โดยรัฐบาลกลางก็ตั้งงบไว้ระดับแสนล้านหยวนเลยเพื่อการนี้
.
นี่ก็นำเรามาสู่ยุคปัจจุบัน ที่จีนยอมรับแล้วว่ามียูนิตอสังหาฯ ที่ปล่อยโล่งๆ อยู่ในประเทศอย่างมหาศาล และรัฐบาลก็เริ่มลงมาจัดการแล้ว ส่วนจะจัดการไปแล้วเป็นอย่างไร ก็อาจต้องให้เวลาสักปีหนึ่งเป็นอย่างน้อยในการประเมินผล
.
แต่ที่แน่ๆ ปัญหาของชาวโลกที่อาจไม่ได้ถูกแก้ไปด้วยก็คือ 'ความเชื่อ' ว่าการลงทุนในอสังหาฯ คือสิ่งที่ดีของชาวจีน และความเชื่อนี้ก็ได้ทำให้คนจีนหนีจากตลาดจีนที่ราคาอสังหาฯ ตกดังที่เล่ามา แล้วไปเข้าซื้ออสังหาฯ ในต่างประเทศและผลักดันราคาให้สูงขึ้นจนคนท้องถิ่นเริ่มซื้อไม่ไหว ทำให้เริ่มเกิดกระแสต่อต้านคนจีน และนี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงกว้างตั้งแต่ในแคนาดา โปรตุเกส ไปจนถึงนิวซีแลนด์
.
#BIZ #BrandThink #CreativeChange
#Empowering #Diversity #PositiveImpact