BIZ: จีนมีปัญหาอสังหาฯ ล้นตลาดอย่างร้ายแรง
ประชากรจีนมี 1,400 ล้านคน
แต่อสังหาฯ ที่ว่างอยู่ทั้งตลาด
อาจมีถึง 3,000 ล้านยูนิต
.
จีนมีปัญหาอสังหาฯ ล้นตลาด นี่เป็นเรื่องที่คนที่สนใจเศรษฐกิจจีนคงคุ้นหูกันดี แต่ล้นแค่ไหนก็ยังคงเป็นปริศนา สื่อจีนเองอย่าง The Global Times เคยรายงานว่า อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เคยออกมาพูดว่าต่อให้คนจีนทุกคนเข้าไปอยู่ในยูนิตอสังหาฯ เพื่อพักอาศัยในจีน มันก็จะยังเหลืออยู่อีกมาก แต่มากแค่ไหนสื่อจีนไม่ได้รายงาน ส่วนสื่อตะวันตกอย่าง The Business Insider ก็ประเมินสิ่งที่อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติพูดแบบติดตลก เขาบอกว่ามีคนประเมินว่ายูนิตอสังหาฯ ที่ขายไม่ออกในจีนน่าจะมีถึง 3,000 ล้านยูนิต แต่เขาก็ไม่สามารถยืนยันได้ ที่เขายืนยันได้คือจีนมีอสังหาฯ ที่ว่างเกินกว่าที่คนจีนจะอยู่อาศัยแน่ๆ ซึ่งเป็นข้อสรุปที่สื่อจีนตัดมา
.
ถ้าตัวเลขที่ว่านี้เป็นจริง มันเป็นตัวเลขที่มากขนาดไหน? ก็มากขนาดที่เอาบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ในจีนที่ขายไม่ออก ไปแจกคนจีนทุกคนตั้งแต่เด็กยันแก่ คนละ 2 หลัง/ห้อง มันก็ยังจะมียูนิตเหลือระดับให้ประชากรประเทศไซซ์กลางๆ สัก 2 ประเทศเข้าไปอยู่ได้สบายๆ มันเหลือเยอะขนาดนั้น
.
แน่นอนว่าไม่มีใครยืนยันตัวเลขจริงๆ ได้ แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายไม่น่าจะปฏิเสธแล้วในขณะนี้ก็คือ จีนมีปัญหาอสังหาริมทรัพย์ล้นตลาดอย่างร้ายแรงจริงๆ
.
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น คงต้องเข้าใจเศรษฐกิจจีนพอสมควรก่อน
.
ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนค่อนข้างจะมีแรงกดดันในการสร้างตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สวยงามให้สมกับที่หันเข้าหาทุนนิยมและระบบตลาด และตัวเลขสวยแค่ไหน เอาง่ายๆ คือก่อนปี 2019 ตัวเลขการเติบโตของผลผลิตมวลรวมประชาชาติหรือ GDP ของจีนโตมาไม่ต่ำกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ ตลอดตั้งแต่ปี 1990 และนี่คือตัวเลขที่ดูเหลือเชื่อมาก เพราะช่วงเวลานั้นเอเชียก็ประสบวิกฤตต้มยำกุ้ง ส่วนโลกตะวันตกก็ประสบวิกฤตซับไพรม์ แต่จีนน่าจะเป็นชาติเดียวในโลกที่เศรษฐกิจโตมาแบบไม่เคย 'สะดุด' เลย ซึ่งถ้าใครคุ้นกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจก็น่าจะรู้ว่าตัวเลข 6 เปอร์เซ็นต์ คือตัวเลขที่สูงมากๆ ปกติจะเกิดกับประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น ประเทศที่เริ่มมีฐานะปานกลางจะคาดหวังตัวเลขระดับนี้ไม่ได้แล้ว แต่จีนทำได้
.
ถามว่าจีนทำยังไง? ถ้าจะพูดแบบกว้างๆ โครงสร้างเศรษฐกิจจีนมันถูกสร้างมาให้เป็น 'โรงงานของโลก' โดยแท้ คือจีนขายตัวด้วยการผลิตรัวๆ และส่งออกรัวๆ พอถึงจุดหนึ่งกำลังการผลิตก็เกินความต้องการในประเทศไปเยอะ และจำเป็นต้องพึ่งตลาดส่งออก และนี่คือเหตุผลที่ 'สินค้าจีน' ถูกส่งออกไปทัวโลกรัวๆ จนสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดตั้งแต่สินค้าเกษตรจนถึงสินค้าอุตสาหกรรม
.
อย่างไรก็ดี จีนไม่ได้มีกำลังการผลิตในสิ่งที่ส่งออกได้เท่านั้น แต่กำลังการผลิตที่สูงของจีนยังรวมไปถึงสิ่งที่ส่งออกไม่ได้อย่างยูนิตที่พักอาศัยด้วย
.
ทำไมต้องยูนิตที่พักอาศัย? ตรงนี้อยากให้จินตนาการว่าคนจีนก็คิดเหมือนคนไทยสมัยก่อนที่เชื่อว่าการซื้ออสังหาฯ คือการลงทุนที่ดีที่สุด เพราะยังไง 'ราคามันก็จะขึ้นไปเรื่อยๆ' ซึ่งคนสมัยก่อนก็จะเชื่อว่ายังไงคนในโลกก็จะมากขึ้น ที่อยู่อาศัยก็จะเป็นที่ต้องการอยู่ดี
.
คนจีนเองก็คิดแบบนี้ ที่อยู่อาศัยในจีนกลายเป็นเครื่องมือการลงทุนของพวกเศรษฐีใหม่ ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพอราคาเพิ่มขึ้น มันก็ยิ่งทำให้พวกบริษัท 'นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์' ยิ่งสนุก ยิ่งสร้างใหญ่เลย และรายได้ที่มากขึ้นทุกปีของบริษัทพวกนี้ก็ทำให้บริษัทสามารถออกตราสารหนี้มา 'กู้เงิน' ไปสร้างโครงการใหม่ต่อไปได้ ในขณะที่โครงการเก่าขายไม่ยังไม่หมดด้วยซ้ำ
.
แน่นอน รัฐบาลจีนเห็นเค้าลางหายนะมานานแล้ว และก็พยายามจะหยุดกระบวนการ 'ปั่น' ราคาอสังหาฯ ขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยมาตรการบังคับให้มีเงินดาวน์ขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้คนที่ไม่มีความพร้อมทางการเงินสามารถร่วมกู้เงินและดันราคาอสังหาฯ ขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเงินดาวน์สำหรับอสังหาฯ หน่วยที่สองที่ถือครองก็จะเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันการเก็งกำไร
.