ช่วงนี้มีนักวิชาการหิวแสงท่านหนึ่ง เที่ยวออกรายการต่างๆ พูดเรื่องหลัก "Confidence and supply" แต่กลับอธิบายแบบครึ่งๆ กลางๆ บิดเหมือนคนแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจ [หรือเพราะไม่เข้าใจ?] สาระสำคัญของสิ่งนี้จริงๆ
'ข้อตกลงการให้ความไว้วางใจและการผ่านงบประมาณจากฝ่ายค้าน' หรือ Confidence and Supply Agreement สิ่งนี้มีอยู่จริง แต่การที่พรรคฝ่ายค้านใด (หรือที่กำลังจะเป็นฝ่ายค้านใด) จะให้ Confidence and supply แก่พรรคฝ่ายรัฐบาลนั้น
📌 สาระสำคัญประการแรก อยู่ที่ความสอดคล้องกันหรือไปในทิศทางเดียวกันของแนวทางทางการเมืองในประเด็นนั้น ๆ ข้อนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ จะยกหลัก Confidence and supply มาพูดให้พรรคการเมืองใดปฏิบัติ โดยละเลยส่วนนี้ได้
ดังนั้น คำถามที่ต้องพิจารณาคือ แนวทางทางการเมืองของเพื่อไทยขณะนี้ ยังเป็นแนวทางเดิมกับเพื่อไทยในช่วงก่อนการเลือกตั้ง-ก่อนการขับก้าวไกล หรือไม่? เพราะเป็นที่แน่นอนว่า ในช่วงระหว่างหาเสียง-หลังทราบผลเลือกตั้งไม่นาน แนวทางหลายประการของเพื่อไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับก้าวไกลจริง ทั้งการมองว่า 112 เป็นปัญหา การมองประเด็นนิรโทษกรรมคดีการเมือง การสนับสนุนปฎิรูปกองทัพ การจะไม่จับมือพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิม ฯลฯ
แต่คำถามคือ เพื่อไทยขณะนี้ยังมีทิศทางทางการเมืองแบบเดิม ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับก้าวไกล หรือพร้อมที่จะกลับมายืนอยู่บนแนวทางเดิม หรือไม่? ถ้าไม่ จะมาอ้างเรื่องหลัก Confidence and supply ได้อย่างไร
📌 ประเด็นที่ 2 Confidence and supply มีลักษณะเป็นข้อตกลงหรือพันธสัญญาที่ต้องให้แก่กันระหว่างพรรค ดังนั้นความหนักแน่นน่าเชื่อถือของพันธะจึงสำคัญ คำถามคือ ถ้าเพื่อไทยอยากได้ Confidence and supply จากก้าวไกลจริง เพื่อไทยจะกล้าทำหรือเสนอข้อตกลงไม่คืนคำต่อประชาชนหรือไม่ เช่น
(1) หลังได้รับเสียงโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จะไม่ดึงพรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ สส จากพรรคเหล่านั้นร่วมรัฐบาล
(2) จะให้เกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. จากการเลือกตั้ง ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดชัด แล้วจะยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนทันที
(3) จะแก้ไขปัญหา 'การบังคับใช้' 112 และจะไม่ขัดขวางการนำประเด็นแก้ไขเข้าสภา
(4) จะผลักดันการปฎิรูปกองทัพในส่วน…
(5) จะให้เสียงสนับสนุนการนิรโทษกรรมคดีการเคลื่อนไหวทางการเมือง
(6) … ฯลฯ
ที่ยกมาเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งอื่นไกล แต่เป็นแนวทางทางการเมืองเดิม ที่เพื่อไทยเคยสัญญาไว้ระหว่างการหาเสียงทั้งสิ้น
ถ้าพิจารณาเฉพาะข้อเสนอ Confidence and supply ถ้าเพื่อไทยกลับมายืนอยู่ในจุดยืนเดิม ดังสัญญาที่เคยไว้แก่ประชาชนก่อนการเลือกตั้ง กระบวนการพิจารณาให้เกิด Confidence and supply ก็จะมีความเป็นไปได้
ไม่ใช่เสนอแบบจะให้ก้าวไกลตีเช็คเปล่า ยอมให้ Confidence and supply ในการตั้งรัฐบาลแก่เพื่อไทย ในขณะที่ไม่มีอะไรการันตีได้เลย ว่าพรรคเพื่อไทยจะปฎิบัติตามพันธสัญญาหรือแนวทางทางการเมืองที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะในสภาวะที่พรรคเพื่อไทยตระบัดสัตย์รายวัน เสียเครดิตจนมีสภาพเป็นพวกล้มละลายทางความน่าเชื่อถือไปแล้วอย่างในขณะนี้—ใครที่ไหนเขาจะกล้าเชื่อน้ำคำทำพันธสัญญาด้วย