Hidden Message เท่าที่จับได้ในหนัง Inside Out 2 (มีสปอยล์เนื้อหา ใครยังไม่ดูข้ามไปก่อน)
.
.
.
.
.
1) ในช่วงเข้าสู่วัยรุ่น อารมณ์จะซับซ้อนขึ้น - จากตอนแรกที่มีแค่ 5 อารมณ์พื้นฐานสำหรับการเอาตัวรอด พอเข้าสู่ช่วงแตกเนื้อหนุ่มสาว อารมณ์ที่ซับซ้อนขึ้นก็ปรากฏตัวขึ้นมา โดยกำลังหลักคือ Anxiety (วิตกกังวล) เพราะเราจะเริ่มเข้าสู่ชีวิตที่กังวลต่ออนาคตแล้ว ไม่เหมือนตอนเด็ก
.
2) ช่วงวัยที่อารมณ์พื้นฐานถูกปิดบัง - จากที่สุขคือสุข เศร้าคือเศร้า ก็จะกลายเป็นอารมณ์อื่นที่ปิดบังอารมณ์พื้นฐานเหล่านั้น ความตื่นตระหนก ความเฉยชา ความอาย ความอิจฉา ล้วนเป็นการปรุงแต่งขึ้นมาเมื่อพ้นวัยเด็ก อย่างไรก็ตาม มันแรงมากจนเข้าควบคุมตัวตนและผลักดันอารมณ์พื้นฐานให้ออกไปไกล ๆ ได้
.
3) แต่ผู้ใหญ่ก็เหลือแค่ 5 อารมณ์พื้นฐาน - ในตอนจบจะเห็นว่าพ่อแม่ก็มีอารมณ์เหลือแค่ 5 อันเดิมอยู่ดี แต่มี Anxiety แวะมาทักทายบ้าง (ในบทสนทนาใช้คำว่า Welcome Back แปลว่าหายไปนานแล้ว) แต่ก็ไม่ได้มาควบคุมคอนโซล เป็นการบอกเป็นนัยว่าพอผ่านอะไรเยอะเข้า พวกอารมณ์ปรุงแต่งก็จะลดลงจนเหลือแค่พื้นฐานเหมือนเดิม แต่ก็อาจจะไม่เสมอไปอ่ะนะ
.
4) เมื่อถูก Anxiety เข้าควบคุม มันจะกลับไปปกติยากมาก - ในฉากพีคจะเห็นว่า Anxiety วิ่งวนจนกลายเป็นพายุที่พัดทุกคนออกไปจากคอนโซล การจะมีอารมณ์อะไรเข้าไปแทรกได้คือยากมาก สุดท้ายถึง Joy จะมีพลังพอจะแทรกเข้าไป แต่คนเดียวที่จะหยุดได้คือ Anxiety เองที่ต้องปล่อยมือ เช่นเดียวกับกับชีวิตจริง ถ้า Anxiety เข้าควบคุมแล้ว มันจะรวนไปหมด ต้องตั้งสติและกำจัดอารมณ์นี้ออกไปให้ได้ก่อน ไม่งั้นจะทำอะไรไม่ได้เลย --- สำหรับคนที่ไม่เข้าใจคนวิตกกังวล พานิค ซึมเศร้า ข้อนี้ทำออกมาได้ชัดมาก
.
5) ต้องรู้จักหัดควบคุมความวิตกกังวล - ในหนังจะเห็นว่า Anxiety ก็ยังอยู่ แต่ถูกจับนั่งเบาะนวดจิบชา เป็นการบอกว่า Anxiety มันไม่ไปไหนหรอก แต่ระหว่างที่มันไม่ได้คุมคอนโซลอยู่ เราต้องรู้จักควบคุมความวิตกกังวลเพื่อไม่ให้มันใหญ่โตขึ้นมา
.
6) ตัวตนถูกสร้างจากประสบการณ์ที่พานพบ - อันนี้ตรงไปตรงมา ทุกคนสร้างตัวตนขึ้นมาจากสิ่งที่พบเจอมาในอดีต ก่อเป็นความเชื่อของตัวเองในปัจจุบัน และนั่นทำให้แต่ละคนไม่เหมือนกันเลย
.
7) คนเราไม่ได้มีแค่ตัวตนเดียว - ตอนที่ลูกแก้วไหลลงบ่อความเชื่อจนสร้างเป็นตัวตนมากมายออกมาในตอนจบ ไม่ว่าจะเป็น ฉันเป็นคนดี ฉันไม่ดีพอ ฯลฯ แต่ทุกตัวตนนั้นกำหนดให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้ซึ่งอาจแปรเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์
.
8) Joy ก็เหนื่อยได้ร้องไห้ได้ - ถึงในภาคแรก Joy จะร้องไห้ให้เห็นแล้ว แต่ภาคนี้ Joy มีฉากสติแตกและบ่นว่าคิดว่ามันง่ายนักหรอที่ต้องคิดบวกตลอดเวลา ก่อนจะทรุดลงนั่งร้องไห้ กลายเป็นอารมณ์อื่นจะต้องช่วย Joy แทน นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจริง Toxic Positivity ที่ต้องคิดบวกตลอดเวลาจนถึงวันนึงก็ระเบิดออกมามันไม่ได้ส่งผลดี แม้แต่อารมณ์ด้านบวกก็ยังหมดแรงนั่งร้องไห้ สุดท้ายทุกอารมณ์สำคัญหมดในการพยุงให้แต่ละคนเดินไปข้างหน้า
.
9) น้ำตามันช่วยได้นะ - มันจะมีฉากที่เศร้าซึมกดคอนโซลแล้วไรลี่ร้องไห้ จอยบอกว่าน้ำตามันช่วยได้นะแล้วก็ลั่ลล้าต่อไป เป็น Message เล็ก ๆ ที่บ่งบอกการยอมรับหลาย ๆ อารมณ์เพื่อให้ไปต่อได้ ไม่ใช่การกดเก็บไว้
.
สุดท้าย ชีวิตไม่ใช่การกดเก็บอารมณ์ ความรู้สึกหรือความทรงจำ แต่เป็นการยอมรับทุกสิ่งและให้มันเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ไม่งั้นความทรงจำที่กักเก็บไว้ วันหนึ่งก็จะพรั่งพรูออกมาในภายหลังอยู่ดี ดั่งที่เห็นในฉากกองพะเนินของลูกแก้วความทรงจำที่ไม่ดีนั่นเอง =)