เราควรจะภูมิใจกับรากของเราก่อนเป็นอย่างแรกว่าเราเกิดมาเพื่อช่วยคนอื่นให้เก่งขึ้น
เรื่องอิจฉาคู่แข่งนี้ คุณไซมอน ซิเนคเคยเอามาเล่าในช่วงที่ไมโครซอฟท์แย่ๆว่า เขาไปบรรยายที่ไมโครซอฟท์ พนักงาน ผู้บริหารก็เอาแต่พูดถึงแอปเปิ้ล ด่าบ้าง ดูถูกบ้าง อิจฉาบ้าง แต่เวลาไปบรรยายที่แอปเปิ้ล ไม่มีใครพูดถึงไมโครซอฟท์เลย พูดแต่ลูกค้าและนวัตกรรมที่จะทำให้สิ่งที่มีอยู่ดีขึ้นเป็นหลัก เป็นเรื่องที่แสดงปัญหาที่คุณสัตยาเห็นได้ดี
นอกจาก sense of purpose แล้ว สิ่งที่ทำควบคู่กันเป็นอย่างแรกที่คุณสัตยาเป็นซีอีโอก็คือ culture ซึ่งแต่เดิมไมโครซอฟท์มีความหลงในความยิ่งใหญ่ในอดีตว่าเราเจ๋งสุด เราเคยเปลี่ยนโลกมาแล้ว และหยุดที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ คุณสัตยามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนคนไมโครซอฟท์ให้มี growth mindset และเป็น learning organization จาก know it all เป็น learn it all ซึ่งคุณสัตยาทุ่มเทกับการเปลี่ยน culture เป็นอันดับหนึ่ง พี่เจี๊ยบ ปฐมา จันทรักษ์ ผู้ที่ทำงานที่ไมโครซอฟท์ในช่วงนั้นเคยเล่าให้ฟังถึงความเข้มข้นในการเทรนและสอนเรื่อง growth mindset ในทุกระดับขององค์กรอย่างจริงจังมากๆ
Sense of purpose ใหม่ของไมโครซอฟท์ที่ต้องการช่วยคน ช่วยองค์กรต่างๆให้เก่งขึ้นนั้นชัดเจนในทุกระดับ ( empower every person and every organization on the planet to achieve more ) ตั้งแต่องค์กรใหญ่ ภาครัฐ SME ช่วยให้การศึกษาดีขึ้น ง่ายขึ้น productivity สูงขึ้น ในตอนนี้อาจจะเห็นได้ชัดผ่านสิ่งที่ไมโครซอฟท์ทำสำเร็จในระยะหลัง รวมถึงการลงทุนใน OpenAI ที่เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการต่อยอดเทคโนโลยีอื่น แม้กระทั่ง AI tool ล่าสุดของไมโครซอฟท์ที่ตั้งชื่อว่า Copilot ก็แสดงถึงจิตวิญญานและเป้าประสงค์ที่ชัดเจนมากๆอีกเช่นกัน
แต่สิ่งที่คุณสัตยาเริ่มจิตวิญญาณใหม่นั้นไม่ใช่แค่สโลแกนสวยๆแต่เขาลงรากลึกในทุกระดับขององค์กรที่จะทำให้ทุกคนช่วยเหลือคนอื่น ทำให้คนอื่นดีขึ้น ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ได้ sense of purpose ถึงจะทำงาน พี่เจี๊ยบ ปฐมา จันทรักษ์ที่อยู่ในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นเล่าว่า คุณสัตยาปรับวิธีการประเมินแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยประเมินว่าปีที่ผ่านมาทำอะไรสำเร็จบ้างกลายเป็นว่า ปีที่ผ่านมาหน่วยงานได้ช่วยให้ใครสำเร็จบ้าง เอาไอเดียใครมาต่อยอดได้บ้าง ในช่วงแรกๆคนในองค์กรถึงกับไปไม่เป็น ใช้เวลาประมาณสามปีถึงจะเริ่มเข้าใจและขับเคลื่อนได้เต็มที่
ในระดับผู้บริหาร คุณสัตยาบอกว่าซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่ปลดล็อค (unconstraint) เอาเป้าหมายที่แคบเกินไปเช่นมาร์จิ้นที่สูง กำไร หรือการมองรายได้แต่เพียงอย่างเดียวออก เพื่อให้เกิดบรรยากาศการกล้าลอง กล้าทำอะไรใหม่ๆ กล้าหา s curve ใหม่โดยการวัดบนเมตริกซ์อื่นเช่น ความพึงพอใจของลูกค้า usage เป็นต้น นอกจากนั้นคุณสัตยายังเน้นที่จะสนับสนุนและโค้ชหัวหน้างานใหม่ (first level manager) ที่คุณสัตยาบอกว่าสำคัญกับองค์กรมากๆเพราะจะเป็นผู้นำรุ่นต่อไป แต่การเป็นหัวหน้างานใหม่นั้นไม่ง่ายเลย การมีลูกน้องไม่กี่คนที่ไม่ได้เชื่อฟังหัวหน้ามือใหม่เท่าไหร่ แถมมีนายคอยตั้งเป้ายากๆให้ ทักษะการเป็นผู้นำก็ยังไม่มีมากนัก การหาทางโค้ช ช่วยและทำให้กลุ่มหัวหน้างานใหม่มั่นใจและกล้าทำอะไรใหม่ๆนั้นสำคัญมากๆเช่นกัน