การใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐ เป็นสิ่งที่ประชาคมโลกไม่ควรสนับสนุน เป็นการละเมิดระบบนิติรัฐและกฎหมายระหว่างประเทศ ระบบนิติรัฐเป็นหลักประกันเดียวที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกประเทศและคุ้มครองสันติภาพของโลก หากปราศจากหลักการนี้แล้ว ประเทศที่อ่อนแอกว่าก็จะตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงจากประเทศที่มีความเข้มแข็งทางทหารที่มากกว่าในทุกครั้งที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น โลกจะหมุนกลับไปสู่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
อะไรคือบทเรียนที่ประชาคมโลกเรียนรู้จากวิกฤตการณ์ยูเครนครั้งนี่้
การตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย ไม่ควรมีบทสรุปว่าผู้นำรัสเซียกระหายสงคราม แต่เป็นการตัดสินใจที่มีปัจจัยความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซียผลักดันการตัดสินใจที่สุ่มเสี่ยงของประธานาธิบดีปูตินในครั้งนี้
วิกฤตยูเครนสะท้อนภาพใหญ่ของระบบความมั่นคงในยุโรปที่ชำรุด ความมั่นคงของยุโรปต้องเป็นความมั่นคงร่วมของทุกชาติในยุโรปโดยไม่ควรแบ่งแยก ยุโรปที่มั่นคงไม่ได้มาด้วยการคุกคามความมั่นคงของรัสเซีย การขยายสมาชิกภาพของ NATO ให้ประชิดพรมแดนรัสเซีย รัสเซียจึงคิดเป็นอื่นไม่ได้นอกจากเป็นความพยายามที่จะปิดล้อมรัสเซีย เหมือนเป็นความตั้งใจของสหรัฐฯและ NATO ที่จะดันรัสเซียให้เข้าสู่มุมอับและขาดอากาศหายใจ เป็นระบบความมั่นคงยุโรปที่มีฐานคิดแบบสงครามเย็น ควรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงโดยไม่มองว่ารัสเซียเป็นศัตรู แต่ควรมองรัสเซียเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบความมั่นคงที่แบ่งแยกมิได้
ยูเครนคือเหยื่อของระบบความมั่นคงของยุโรปที่ชำรุด ล้าสมัย และเปราะบางจนไม่สามารถประกันความมั่นคงของยุโรปได้แล้ว ยังกำลังถูกกัดเซาะจนหมดความสามารถที่จะปกป้องสันติภาพของโลกได้ นี่คือบทเรียนที่ประชาคมโลกควรยอมรับ อย่าให้มันกระเด็นมาที่เอเชีย
https://www.facebook.com/100002390711293/posts/4857903267632649/