คิดว่ากรณี LUNA/UST/Anchor จะเป็นกรณีศึกษาไปอีกยาวนาน ส่วนตัวมองว่าเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าทำไมคริปโตทั้งวงการถึง "ควร" อยู่ใต้การกำกับดูแลโดยรัฐนะคะ เพราะไม่ว่าคุณจะเชื่อว่าคริปโตบางตัวจะเป็น "เงินตรา" แห่งอนาคตหรือไม่ ทุกวันนี้คริปโตคือ "สินทรัพย์เพื่อการลงทุนความเสี่ยงสูง" (high-risk investment asset) ไปแล้ว และในฐานะนั้นเราก็ควรคาดหวังให้มีกฎกติกาคุ้มครองเราในฐานะ "นักลงทุน" อย่างน้อยคุ้มครองเราจากกรณีต่อไปนี้
1. การหลอกลวง ฉ้อฉล ยักยอกโดยเจตนา (แชร์ลูกโซ่ดิจิทัล)
2. ความบกพร่องของระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงจุดบอดหรือ bugs ในโค้ด ที่นำไปสู่การโจมตีและเราสูญเงินได้ในพริบตา (หลายคนเลยบอกว่า อีกหน่อย algorithms ต้องเปิดให้มีการ audit)
3. การให้ข้อมูลบิดเบือน (misrepresentation) ในทางที่ทำให้เราเข้าใจผิดเกี่ยวกับลักษณะการลงทุนและระดับความเสี่ยง
4. การโกงของตลาดซื้อขายคริปโต (crypto exchange) เช่น ปั่นราคาเหรียญ, มโนมูลค่าการซื้อขายให้ตลาดดูใหญ่เกินจริง, front-run, wash-trade ฯลฯ (เกิดมาหมดแล้วในหลายตลาดต่างประเทศ)
ส่วนคนที่กลัวว่า การกำกับดูแลของรัฐจะทำให้คริปโตไม่เสรีจริง ก็คงต้องครุ่นคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนว่า เสรีแปลว่าอะไร ทำไมเราในฐานะ "นักลงทุน" ถึงไม่อยากเห็นกติกาที่คุ้มครองเราจากมิจฉาชีพและความไม่เป็นธรรมในตลาด
อีกทั้งจริงๆ ประเด็น decentralized / centralized ของคริปโต ก็ไม่ใช่ประเด็นที่เป็นเรื่องถูก-ผิด แบบขาวดำขนาดนั้น เพราะต้องกลับไปที่คำถามพื้นฐานเวลาดูคริปโตแต่ละตัวว่า จะ decentralize (blockchain) ไปทำไม ? ได้ประโยชน์อะไรจากการทำแบบนั้น เทียบกับไม่ทำ ? trade-offs มีอะไรบ้าง ? ยังไม่นับว่าคริปโตหลายตัวอ้างว่า decentralized แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย -- แต่เรื่องนี้ซับซ้อน ต้องยกยอดไปเขียนต่างหาก
#ทดไว้เขียน