แถมอีกอัน ของเจ้าของ quote เดียวกับ >>16
Stoicism ลัทธิสโตอิก เป็นหนึ่งในปรัชญาที่ทรงอิทธิพลของตะวันตก ซึ่งเรารู้จักมันน้อยกว่าแนวคิดของสำนักเพลโต
อิทธิพลหลายอย่างของแนวคิดตะวันตก ไม่ได้มาจากตะวันออก แต่มาจากแนวคิดสโตอิก
ประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล ที่เอเธน โดย เซโน แห่งซิเทียม
ลัทธิสโตอิกเชื่อในการฝึกฝน และการควบคุมความต้องการของร่างกาย
พวกสโตอิกเชื่อว่าโลกนี้มีสิ่งที่เป็นกฎธรรมชาติในลักษณะที่เป็นคุณธรรมตามธรรมชาติ หรือกฎหมายธรรมชาติอยู่ มันมีรูปแบบบางอย่างที่จักรวาลมีระบบระเบียบของมัน - ซึ่งเหตุผลคือความเข้าใจกฎธรรมชาตินี้ และมนุษย์เราควรมีวิธีชีวิตที่สอดคล้องกับกฎหมายธรรมชาติ
ลัทธิสโตอิก เชื่อในการฝึกตน วินัย และการพยายายามควบคุมความต้องการของร่างกายให้พอดี ไม่มากไป (แต่ก็ไม่ใช่การทรมานตัวเอง)
สโตอิก เชื่อว่าความโง่คือบาป มนุษย์เราจะดีขึ้น เมื่อมีการศึกษา ได้รับการฝึกให้เข้าใจเหตุผล และควบคุมตันหาต่างๆ
คุณธรรมในมุมมองของสโตอิกคือ
- ปัญญา
- ความกล้าหาญ
- ความยุติธรรม
- การบังคับควบคุมตนเอง รู้จักความพอดี (ไม่ตกอยู่ในอิทธิพลของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นสุรา กามา ความสบาย อำนาจ)
ฟังดูแล้วโคตรคุณธรรมโรมัน ทำให้แนวคิดนี้เป็นที่นิยมของชาวโรมันมากๆ ในขณะที่ช่วงที่โรมันเริ่มเป็นจักรวรรดิ ศีลธรรมเริ่มเสื่อมทรามลง แนวคิดแบบสโตอิกยิ่งเป็นที่นิยมมากขึ้น
จนจักรพรรดิมาร์คัส ออเรลิอุส ถือเป็นหนึ่งในนักปรัชญาสโตอิกที่สำคัญ มีงานเขียนชื่อ meditation ซึ่งเป็นเรื่องการพิเคราะห์ชีวิตของตน มีแปลไทยหาอ่านได้
พวกสโตอิกยังนับถือเทพเจ้าของโรมันอยู่โดยทั่วไป แต่เป็นวิถีชีวิตนอกเหนือจากความเชื่อของเรื่องเหนือธรรมชาติ
ในมุมของผม แนวคิดสโตอิก มีบางสิ่งที่ใกล้เคียงกับข่งจือ ในแง่ของการให้ความสำคัญกับการฝึกตน และมุ่งนั้นชีวิตทางโลกและวินัยบางอย่างแก่สังคมมากกว่า จะไปสนใจเรื่องสวรรค์นรก แต่เป็นเวอร์ชั่นของตะวันตก ในขณะที่ข่งจือจะเน้นไปทางความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว เพื่อน เจ้านายลูกน้อง
สโตอิกมันจะมีความตะวันตกมากๆ คือมุ่งเน้นการพิเคราะห์ชีวิตของตน เผื่อรีเฟลคชั่น ตกผลึกความคิดอะไรบางอย่าง
การฝึกฝนของสโตอิก นอกจากกระบวนการพินิจกฎระเบียบของธรรมชาติแล้ว ยังมีกระบวนการสำรวจจิตใจตนเองซึ่งเป็นลักษณะ mindfulness คล้ายกับการทำสมาธิแบบพุทธด้วย แต่เป้าหมายต่างจากกรรมฐาน หรือพวกสาย mysticism
(ทีนี้พวกที่ชอบเขียนบทความเดาว่าเทคนิค หรือแนวคิดบางอย่างของตะวันตก ต้องได้อิทธิพลมาจากอินเดียนี่ จริงๆนี่ตะวันตกก็มีของมันอยู่)
ในสายของการพัฒนาทางปรัชญา แนวคิดสโตอิกมีอิทธิพลอย่างสูงต่อคริสตจักรยุคต้น
สัญนิษฐานว่าเปาโลคุ้นเคยกับปรัชญาสายสโตอิกซึ่งเป็นกระแสหลักของโรมันในสมัยนั้นเป็นอย่างดี เนื่องจากในกิจการที่เปาโลพยายามเผยแพร่ศาสนาให้กับ "ชาวต่างชาติ" เปาโลใช้คำศัพท์ของพวกสโตอิก มีการพูดถึงคุณธรรมที่ชาวสโตอิกชื่นชอบ พวกการควบคุมตนทั้งหลาย เพื่อให้ชาวกรีก-โรมัน เข้าใจคำสอนของคริสเตียน
ดูเหมือนว่าผู้ที่มีพื้นฐานของสโตอิกจะเปิดรับคำสอนของคริสเตียนได้ง่าย เพราะเบื่อหน่ายลักษณะความเหลวแลกของศีลธรรมในสังคมโรมัน ที่ชนชั้นสูงมีลักษณะเป็น Hedonism กันซะเยอะ คือปาร์ตี้ทุกวันต้องกินกันจนอ๊วก แล้วก็ Sex ทั้งชายหญิง มีทั้งผัวทั้งเมีย เอาทั้งชายทั้งหญิงแบบไม่จำกัด จนเกิดปัญหาทางสังคมอื่นๆตามมา ทั้งปัญหาเรื่องสมบัติ ฯลฯ ในสังคมโรมันยุคนั้น
วิหารต่างๆของโรมันเดิมก็เป็นลักษณะศาลเจ้าถวายเครื่องบูชาให้เทพเจ้าเพื่อขอพรต่างๆและป้องกันความซวยจากที่เทพโกรธเฉยๆ ไม่ได้มีฟังก์ชั่นในการสั่งสอนศีลธรรม (คือศีลธรรมก็ไปเรียนในโรงเรียนปรัชญา) บางวิหารก็มีพิธีกรรมทางศาสนาที่มีพวกโสเภณีซึ่งที่สโตอิกรู้สึกว่าผิดศีลธรรม เหมือนทำเนียมการจ่ายเงินบริจาค เพื่อได้นอนกับโสเภณีมีมาตั้งแต่วิหารของอิชทา และส่งต่อมายังพวกวีนัส (แต่ไม่ใช่พวกวิหารเทพเวอร์จิ้น อย่างอาเธนา) - ในช่วงจักรวรรดิโรมัน มีโสเภณีชายในวิหารเหล่านี้ด้วย - พวกมีคุณธรรมแบบสโตอิกจึงมีแนวโน้มที่จะมองหาแนวคิดทางศาสนาทีมีระบบศีลธรรมแข็งแรงเป็นศาสนาใหม่
งานของเซนท์แอมโบรส (ซึ่งเป็นอาจารย์ของบุคคลสำคัญของคริสตปรัชญาอย่างมาคือเซนท์ออกัสติน) ก็มีหลักฐานให้เห็นว่าเซนท์แอมโบรสเรียนรู้ปรัชญาแบบสโตอิกเป็นอย่างดี - ดังนั้นวัตรปฏิบัติต่างๆ ในจารีตแบบออกัสติน และชีวิตในอาราม จึงมีลักษณะซึ่งได้รับอิทธิพลในเรื่องวินัย และการควบคุมตนจากแนวคิดแบบสโตอิกด้วย
แนวคิดเรื่องวินัยเหล่านี้ถูกถ่ายทอดให้คริสตศาสนา และมีอยู่ตลอดในชีวิตอาราม และกลายเป็น protestant ethic ในช่วงปฏิรูปศาสนาด้วย ดังนั้นในช่วงยุคแสงสว่างทางปรัชญา แนวคิดพวกสโตอิกเลยไม่ค่อยหวือหวา เอามาปัดฝุ่นใหม่เหมือนงานพวกเพลโต โสเครติส
#มิตรสหายท่านหนึ่ง