"คำสรรพนามว่า "ดิฉัน" มาจากไหน ?
คำว่า "ดิฉัน" นั้น เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี (มคธ) ว่า ติรจฺฉาน (ติ-รัด-ฉาน) ส่วนภาษาสันสกฤตใช้ว่า ติรศฺจีน แปลตามรูปศัพท์แปลว่า ขวาง ติรจฺฉานคต = สัตว์ผู้มีร่างกายเจริญโดยขวาง หมายถึงสัตว์ทั่วไปยกเว้นมนุษย์ผู้เดินสองขา (ทวิปาทะ/ทวิบท) ทำให้ตั้งตัวตรงบนขาได้ ส่วนสัตว์ทั้งหลายมักทรงตัวบนขาทั้งสี่ (จตุบท) หรือมากกว่า (พหุบท) ซึ่งเป็นข้อแบ่งแยกระหว่างมนุษย์และสัตว์
คำๆ นี้ ไทยเรารับมาโดยทางศาสนาพุทธ มีปรากฎแล้วในวรรณคดีสมัยอยุธยา คำว่า "ดิฉัน" หรือ "ดีฉัน" แรกเริ่มทีเดียวเป็นสรรพนามของคนทั่วไปใช้พูดกับพระสงฆ์ ผู้เป็นที่นับถืออย่างสูง มาจากคำว่า "ดิรัจฉาน" คือยกย่องพระสงฆ์ว่าเป็นผู้ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งปวง (มนุษย์ก็นับว่าเป็นสัตว์เหมือนกัน แต่เป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย) ขณะเดียวกันผู้พูดก็ถ่อมตัวว่า ตนนั้นหากเปรียบกับพระสงฆ์ ก็ยังเป็นเพียงดิรัจฉาน จึงเรียกตัวเองว่า "ดิรัจฉาน" ต่อมา กร่อนไปเหลือแต่พยางค์ต้นกับท้าย กลายเป็น "ดิฉัน"
เดิมใช้คำนี้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง แต่ต่อมาใช้กันแต่ในหมู่พวกผู้ชาย เวลาพูดกับพระสงฆ์ ปรากฏในวรรณคดี ‘ขุนช้างขุนแผน’ ก็มีเขียนไว้ว่า
“อ้ายโห้งฟังนายสบายจิต
ดีฉันคิดไว้แต่แรกลงมาถึง
ความรักไม่ชั่วจนตัวตึง
ค่าตัวชั่งหนึ่งอีคนนี้”
คำว่าดีฉัน พบในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น เป็นคำที่แสดงถึงวิถีชีวิตและสังคมของชาวบ้าน ตลอดจนการพูดจาของสามัญชนในยุคปลายกรุงศรีอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์
คำว่า ‘อีฉัน’ นี้ หากสันนิษฐานแบบลากเข้าศัพท์ เห็นจะมาจากคำว่า อี + ฉัน เพราะในสมัยก่อนผู้หญิงทั่วไปมักเรียกกันว่า อีนั่น อีนี่ เวลาพูดกับมูลนาย จะใช้ว่า ‘ฉัน’ ก็ดูไม่เป็นการนับถือยกย่อง จึงเลยเรียกตัวเองว่า ‘อี’ เสียก่อน จึงตามด้วย ‘ฉัน’ ส่วนคำว่า "ฉัน" และ "ท่าน" มีการกำหนดให้ใช้สรรพนามแทนบุรุษที่ 1 และ 2 ในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม คำว่า ดิฉัน นี้ บางทีก็พูดเร็วๆ เป็น ‘อะฮั้น’ ‘เดี๊ยน’ บ้าง ‘ดั้น’ บ้าง ก็มี
รู้แบบนี้ ไม่ทราบว่ายังสนิทใจที่จะเรียกตัวเองว่า "ดิฉัน" กันอยู่หรือเปล่า?"
#มิตรสหายท่านหนึ่ง