"///ยางพารา และ คนใต้///
ตัวผมเองเติบโตในยุคที่ปักษ์ใต้เฟื่องฟูด้วยเศรษฐกิจ "ยางพารา" ทั่วเทือกทิวเขาและที่นาเก่าต่างสมบูรณ์ไปด้วยพืชยืนต้นเขียวขจี กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางหัวบันไดไม่เคยแห้ง ใครมีที่ดิน 5 ไร่ขึ้นไปเป็นต้องปลูกยาง เพราะพิสูจน์แล้วว่าน้ำยางยุคนั้นสร้างคนให้ร่ำรวย ส่งลูกหลานไปเรียนไกลถึงเมืองหลวงและเมืองนอก สร้างคหบดีใหญ่ สร้างตำรวจ สร้างทนายความ สร้างนายอำเภอขึ้นมากมาย
คนใต้ใหญ่โตโอ่อ่าเพราะยางพารา ถือเงินสดเป็นฟ่อนไปถอยรถป้ายแดงโดยไม่สนใจไฟแนนซ์ แต่ยางพารานั่นแหละที่ทำให้คนใต้มีรูปแบบความคิดทางการเมืองเฉพาะที่แตกต่างไปจากคนไทยทั่วไป
ต้นทศวรรษที่ 30 มีนโยบาย "อีสานเขียว"เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง คนบ้านผมเอ่ยเล่นๆ ว่า ถ้าอยากเขียวจริงต้องเอายางไปปลูกสิ เพราะภาคใต้ยุคนั้นเขียวมาก ยางพาราขึ้นดกดื่นขนาดไม่มีที่โล่งให้มองดาวด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือนตอนที่อีสานได้รับการสนับสนุนให้ปลูกยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจ คนใต้ทั่วไปเกิดความรู้สึกไม่ค่อยพอใจนัก เพราะยางพาราถูกทำให้เข้าใจกันว่า เป็นพืชประจำถิ่นปักษ์ใต้ ปลูกที่ไหนก็ไม่ขึ้น แต่ลืมไปว่า สุดท้ายนักวิจัยพันธ์ุยางปรับแต่งพันธุ์จนขึ้นที่แผ่นดินแห้งแล้งทางอีสานได้ แม้จะต้นเล็กกว่า ความเข้มข้นของน้ำยางน้อยกว่า แต่ก็ให้ผลดี
คนใต้ที่พอมองอนาคตออก เริ่มกังวลนับตั้งแต่ต้น เพราะเศรษฐกิจยางพาราที่ปักษ์ใต้เคยมีอำนาจต่อรองสูงมาหลายสิบปี รัฐเริ่มเข้ามาแทรกแซง รัฐบาลไหนที่เสนอนโยบายขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราไปสู่ภาคอื่น คนใต้ไม่ค่อยชอบหรอก เพราะกลัวว่าผลผลิตที่มากเกินไปมันจะฉุดราคาให้ต่ำลง
และนักการเมืองปักษ์ใต้เองก็รู้ว่าคนใต้อ่อนไหวกับยางพารา ยางจึงถูกเอามาใช้เป็นนโนบายสำคัญของการหาเสียงทุกยุคสมัย หากใครขึ้นปราศรัยไม่พูดเรื่องยาง(ให้ถูกใจ)คืนนั้นก็เหมือนไม่ได้ปราศรัยอะไรเลย เพราะคนรอฟังแค่นั้น
จริงๆ ยุคยี่สิบสามสิบปีก่อน ไม่ต้องปราศัยเรื่องยางก็ได้ เพราะเหมือนเสือนอนกินอยู่แล้ว ความต้องการในประเทศขยายตัวแต่การผลิตเท่าเดิม เพียงแต่ยุคยี่สิบปีหลังนี่เอง หลังจากพื้นที่ปลูกยางในประเทศและต่างประเทศขยายตัว ความต้องการซื้อและผลผลิตเริ่มไม่สมดุลกันแต่ละปี นโยบายยางพาราจึงกลายเป็นจุดสนใจ และคนใต้เองก็เริ่มรู้สึกไม่มั่นคง (แม้ว่าจะมีปาล์มน้ำมัน -พืชเศรษฐกิจใหม่เข้ามาเบียดแทรกพื้นที่เพาะปลูกยางพารา แต่ก็อยู่ในสถานะเดียวกัน คือขึ้นอยู่กับตลาดโลก)
สมัยก่อน (30 ปีก่อน)ยังไม่มีการซื้อขายน้ำยาง คนปักษ์ใต้จะกรีดยางเพื่อผลิตยางแผ่นรีด และขี้ยาง คนมีสวนเยอะทำยางแผ่น ทั้งกรีดเองและจ้างคนอีสานมาเป็นคนงาน คนมีสวนยางน้อยก็ทำขี้ยาง กรีดสะสมในกะลาหรือถ้วยรองไว้พอเต็มถ้วยก็แคะไปขาย ราคาต่ำกว่ายางแผ่นรีด แต่ก็ลงแรงน้อยกว่า ถือว่าคุ้ม
ยุคที่เขาขยายพื้นที่เพาะปลูกไปทางอีสานและภาคเหนือ กำลังตั้งไข่สหกรณ์เพื่อรับซื้อผลิตผลยางพารากันอย่างแพร่หลาย คนใต้หลายคนถูกเชิญไปเป็นที่ปรึกษา ไปให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการเพราะมีประสบการณ์ ตอนนั้นก็โอ่อ่ากันมาก รู้สึกว่าตัวเองสำคัญ อย่างไรเสียภูมิปัญญาการเพาะปลูกและบริหารจัดการวงจรธุรกิจยางก็ยังอยู่กับคนใต้
คนใต้ส่วนหนึ่งฉีกวิธีคิดเดิมทิ้ง พอในประเทศเริ่มตัน เพราะที่ดิน สปก.ก็หมดแล้ว ภูเขาก็สิ้น กฎหมายป้องกันบุกรุกที่ดินเริ่มบังคับใช้รุนแรง จึงเสาะหาพื้นที่เพาะปลูกยางใหม่ บางคนบินไปไกลถึงแอฟริกา กลายเป็นเศรษฐีจนถึงทุกวันนี้
แต่นั่นก็ส่วนน้อย ...ส่วนใหญ่ยังยึดติดภาพอยู่เหมือนเดิม สวนยางเป็นเส้นเลือดของคนใต้ และนักการเมืองที่เคยตั้งสหกรณ์ควบคุมเกษตกรชาวสวนยางและสวนปาล์มไว้ในกำมือ แต่ยังมีธุรกิจขนาดใหญ่และพื้นที่การเมืองของตัวเอง ก็ยังทำให้คนเใต้ยึดติดกับกรอบจินตนาการเช่นเดิม
"สวนยางเป็นของคนปักษ์ใต้"
อหังการ์ของคนใต้ และโลกทัศน์เก่าที่เคยสร้างคนใต้ให้เป็นพวกเห็นแก่ตัว ยกตัวโอ่อ่า รักแต่พวกพ้องเพื่อนฝูง สร้างวาทกรรมหลอกๆ อย่างใจถึง พึ่งได้ ไม่รบนาย ไม่หายจน เพื่อยกตัวว่าสูงส่งและใจใหญ่ ยึดติดว่าตัวเองกินดีอยู่ดีกว่าชาวบ้านภูมิภาคอื่น เพราะทรัพยากรดีกว่า เศรษฐกิจดีกว่า สร้างลูกหลานเป็นนายร้อย นายอำเภอมามากมาย
ทั้งหมดกลายเป็นโรคร้ายที่กำลังกลืนกินตัวเอง และกำลังแปลกแยก โดยไร้อาทรจากเพื่อนร่วมชาติ
บางทีคนใต้เองก็ไม่ทันได้คิดหรอกว่า นอกจากน้ำยางจะสร้างนายร้อย นายอำเภอ ทนายความขึ้นมาประดับประดาแผ่นดินให้ดูรุ่มรวยกว่าชาวบ้านเขาแล้ว ยังสร้างนักการเมืองเปรตๆ ขึ้นมาเพื่อทำลายทุกอย่างทิ้งในท้ายที่สุด
จอกนี้เพื่อผม เพื่อคนใต้บ้านผม
เอ้า...ดื่มมมมมม."
#มิตรสหายท่านหนึ่ง