"ตอนผมเป็นวัยรุ่นยุค 56K (เล่น Pirch และ ICQ) จำได้ว่าพวกผู้ใหญ่และสื่อพากันเป็นห่วง "เยาวชนผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์" จะตกเป็นเหยื่อเทคโนโลยี ถูกผู้ไม่หวังดีล่อลวง. เมื่อไรที่มีข่าวนักศึกษาขายตัวทางเน็ต พ่อแม่ชนชั้นกลางทั้งหลายก็กระวนกระวายกันไปทั่ว ว่าลูกจะโดนหลอกขายตัวให้เสี่ย.
พอนึกย้อนกลับไปก็ขำหึๆ. ที่ขำก็เพราะผู้ใหญ่ที่เคยเป็นห่วง "เยาวชนผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์" เนี่ย มาถึงวันนี้ก็กลายมาเป็นลุงๆ ป้าๆ ที่เริ่มเล่น Line และ Facebook กัน แล้วแต่ละคนตอนนี้นี่ดูไม่จืดทีเดียว.
บางคนโดนหลอกด้วยรูปตัดต่อระดับเบสิคที่เด็ก ป.5 ดูปุ๊บก็รู้ปั๊บแบบไม่ต้องซูม. บางคนโดนเพจดักควายหลอกซะเงิบเสียศูนย์ (มีเหยื่อแบบ high-profile มาให้เห็นตลอด). บางคนโดนหลอกให้โอนเงินไปให้คนที่อ้างว่าเป็นเศรษฐีไนจีเรีย. บางคนโดนฝรั่งใช้รูปโปรไฟล์ปลอมมาหลอกจีบแล้วขอเงิน บอกว่าจะซื้อตั๋วเครื่องบินมาหาที่เมืองไทย (เหยื่อประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นป้าวัยทองขี้เหงา หรือชายวัย mid-life crisis). แล้วก็มีนับไม่ถ้วนที่โดนหลอกด้วยข่าวมั่วๆ แนวฟอร์เวิร์ดเมล ที่ก๊อปส่งกันทาง Line.
พูดสั้นๆ คือ โดนหลอกด้วยมุกที่วัยรุ่นเขารู้ทันกันไปเกือบหมดตั้งแต่ก่อน Y2K แล้วอะครับ. (โอเค เพจดักควายนี่อาจเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยุคปลายศตวรรษที่ 20 ยังไม่มี.) ถ้าความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เป็นเหตุให้ต้องถูกควบคุม ก็มีเหตุผลที่วัยรุ่นจะต้องควบคุมการใช้เทคโนโลยีของผู้ใหญ่นะครับ."
#มิตรสหายท่านหนึ่ง