ศ. โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เริ่มการปาฐกถาโดยการปล่อยมุกได้อย่างน่าคิดว่า “การเลือกที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเราคือ การเลือกเกิดมาในพ่อแม่ ที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมเพียงพอที่จะสนับสนุนให้เราเป็นคนที่มีศักยภาพอย่างที่เราควรมี”
มุกของ ศ. สติกลิตซ์ มุกนี้เป็นแนวคิดสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึง ความเหลื่อมล้ำที่ถูกถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง (Inter-generational Inequality) หรือเราอาจเรียกว่าเป็น “ความเหลื่อมล้ำแบบถาวร” ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญในสังคมต่างๆ รวมถึงในสหรัฐอเมริกา บ้านเกิดของคุณสติกลิตซ์เองด้วย
ทั้งนี้เพราะความเหลื่อมล้ำที่ ศ. สติกลิตซ์ กล่าวถึงนั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์อย่างผมนิยมใช้กัน แต่เน้นถึง “ความเหลื่อมล้ำของโอกาส” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ เรื่องการศึกษา เรื่องการทำงาน ล้วนส่งผลระยะยาวต่อความเหลื่อมล้ำของคนรุ่นหน้า ซึ่งดันไปผูกพันกับ “ความเหลื่อมล้ำของรายได้” และนั่นส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย
ในเมืองไทยของเรา เด็กที่เกิดในครอบครัวที่รวยที่สุด 10% แรกของประเทศ สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้เกือบร้อยละ 70 ของเด็กที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยกลุ่มนี้ทั้งหมด ในขณะที่เด็กที่เกิดในครอบครัวที่จนที่สุด 10% สุดท้ายของประเทศ จะเข้ามหาวิทยาลัยได้เพียงร้อยละ 4 ของเด็กที่เกิดในครอบครัวที่จนที่สุดกลุ่มนี้เท่านั้น
เราลองคิดดูว่า “โอกาส” ที่เด็กกลุ่มที่เกิดในครอบครัว 10% ที่จนที่สุดนั้น หายไปมากเพียงใด และสิ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ โอกาสที่หายไปนั้น ไม่ใช่โอกาสของเด็กกลุ่มนี้เท่านั้น แต่เป็นการสูญเสียโอกาสของสังคมไทยทั้งประเทศ ในการที่จะมีประชาชนหรือกำลังแรงงานที่มีศักยภาพ
ศ. สติกลิตซ์ ได้เสนอให้เห็นว่า การตกต่ำทางเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการลงทุนในมนุษย์ (เช่น เมื่อพ่อตกงาน ลูกจึงต้องออกจากการศึกษา หรือเอกชนลดการฝึกอบรมแรงงานลง) อันส่งผลเสียหายต่อการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนี้ ศ. สติกลิตซ์ ยังพบว่า สังคมที่เน้นการฝึกอบรมในระหว่างการทำงาน (หรือ on-the-job training) และที่น่าสนใจมากคือ การฝึกอบรมนอกเหนือจากการทำงาน (หรือ beyond-the-job training) จะสามารถรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจได้ดีกว่า เพราะแรงงานในสังคมนั้น มีทั้งศักยภาพ สมรรถภาพ และความยืดหยุ่นในการทำงานมากกว่า
ศ. สติกลิตซ์ จึงเน้นว่า หากเราต้องการจะหยุด “การส่งมอบความเหลื่อมล้ำจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง” เราจะต้องเขียนกติกาของสังคมของเราขึ้นใหม่ โดยเริ่มต้นจาก (ก) การพัฒนาระบบบริการสาธารณะในการดูแลแม่และเด็กเล็ก (ข)การพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษาสาธารณะที่เอื้อโอกาสให้คนทั้งมวล (ค) การสร้างความมั่นคงในการทำงาน (ง) การพัฒนาระบบการอบรมในการระหว่างการทำงาน และการอบรมนอกเหนือจากการทำงาน และ (จ) การควบคุมการเติบโตและการถ่ายโอนรายได้ของกลุ่มคนที่รวยที่สุด 1% แรกของสังคมนั้นๆ
ผมฟังแล้วนึกถึงพี่น้องเกษตรกรในบ้านเราที่กำลังได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำในช่วง 2-3 ปีนี้ สังคมไทยของเราไม่ค่อยได้ลงทุนในการฝึกอบรมระหว่างการทำงาน และไม่ต้องพูดถึงการฝึกอบรมนอกเหนือการทำงานที่แทบจะไม่มีเลย เราไม่เคยพูดถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของพี่น้องเกษตรกร สิ่งที่รัฐบาลของเรานิยมทำก็คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ (ซึ่งมิได้แปลว่าไม่ดีเสียทั้งหมด) แต่นั่นมิได้สร้างหลักประกันเลยว่า ลูกหลานของเขาจะได้เรียนต่อในปีต่อๆ ไป
ความฝันของผมคือ จะได้เห็นสังคมไทยเป็น “สังคมที่จะดูแลและต่อยอดความฝันของเด็กทุกคน ไม่ว่าเขาจะเกิดมาในครอบครัวใด”
เราจะต้องมุ่งมั่นที่จะไม่ส่งมอบความเหลื่อมล้ำของคนรุ่นเรา ไปยังคนรุ่นหน้า เราจะต้องไม่เป็น “สังคมที่เหลื่อมล้ำอย่างถาวร”
สรุปจากเวที Transforming policy, Changing lives: The 5th OECD World Forum on Statistics, Knowledge, and Policy, Guadalahara, Mexico. 13-15 October 2015.
#มิตรสหายท่านหนึ่ง