"เพิ่งได้ดูสารคดี Ivory Tower เกี่ยวกับสถานการณ์อันวิกฤตของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในอเมริกา แล้วก็สะท้อนใจนึกถึงเพื่อนอเมริกันที่เคยเรียนด้วยกัน เพราะปัญหาหลักก็คือ ค่าเทอมที่แพงมากๆ (ปีละ 30,000-60,000 เหรียญ หรือประมาณ 1-3 ล้านบาท) ทำให้นักศึกษาส่วนมากต้องกู้เงินเรียน และเมื่อจบออกมาปุ๊บ บริษัทก็ทวงหนี้ปั๊บ นักศึกษายังไม่ทันได้หางานหาการทำเลย ดังนั้นจึงเกิดการติดหนี้สะสมและการหนีหนี้ขึ้น และทำให้จำนวนหนี้ทวีคูณขึ้นไปสามเท่าห้าเท่า แฟนเก่าเราก็เป็นหนึ่งในกรณีนี้ เพราะกู้เงินมาเรียนแต่จบมาไม่มีงานการประจำทำรับจ็อบไปเรื่อย ทำให้มีหนี้ค้างชำระหลายปีมากๆ สุดท้ายบริษัทตามตัวเจอส่งใบแจ้งหนี้เพิ่มทบต้นทบดอกมา พอเห็นจำนวนเงินเราก็มองหน้ากันแล้วก็รู้กันว่าชาตินี้เขาไม่มีทางหลุดจากหนี้ student loan นี้ได้แน่นอน คนอเมริกันตกอยู่ในสถานการณ์นี้เยอะมาก หนี้มวลรวมของเงินกู้เพื่อการศึกษาในอเมริการวมแล้วเกิน 1 ล้านล้านบาท เข้าไปแล้ว (1 trillion dollar)
หนังได้แจกแจงสาเหตุของการที่ค่าเทอมพุ่งเป็นจรวดว่ามีหลายประการ ทั้งจากนโยบายรัฐที่เปลี่ยนไป จากที่สมัยหลังสงครามโลกรัฐให้เงินสนับสนุนมหาวิทยาลัยต่างๆค่อนข้างมาก และต้องการส่งเสริมให้ประชาชนมีการศึกษาฟรีหรือถูกที่สุด แต่เมื่อรัฐบาลอนุรักษ์นิยมรีพับลิกันขึ้นมามีอำนาจ โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลเรแกน ก็เปลี่ยนท่าทีและลดเงินสนับสนุนมหาวิทยาลัยต่างๆลงอย่างฮวบฮาบ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องเร่งหาทุนเพิ่มเอง และทางออกหลักๆของมหาวิทยาลัยก็คือ ต้องเพิ่มโปรแกรมเรียนให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มจำนวนนักศึกษา อีกทั้งต้องเพิ่มสิ่งดึงดูดใจต่างๆให้นักศึกษา เช่น สร้างอาคารเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ในแคมปัสอย่างอลังการ สร้างทีมกีฬาให้ใหญ๋โต ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ ไม่ได้เป็นการใช้เงินในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนการสอนเลย
ทางออกของเด็กรุ่นนี้ต่อการศึกษาในระบบที่แพงระยับและอาจไม่ได้การันตีอาชีพการงานด้วยซ้ำ ก็มีไม่มากนัก และทั้งหมดเป็นเรื่องของการศึกษาทางเลือกที่ดูอุดมคติหรือดูเฉพาะกลุ่มมากๆ แต่ก็เป็นความพยายามที่น่าสนใจของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยขนาดย่อมที่อยู่ห่างไกลในป่าเขา รับนักศึกษาเพียงยี่สิบกว่าคน และให้นักศึกษามีการร่วมออกแบบโปรแกรมการเรียน และเน้นการถกประเด็นวิชาการต่างๆกันครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งเป็นภาคปฏิบัติคือให้นักศึกษาสร้างชุมชนที่อยู่ได้ด้วยตนเองหรือออกไปทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนอื่นๆ อีกทางเลือกหนึ่งคือ movement ที่เรียกกันว่า uncollege คือกลุ่มบุคคลที่รณรงค์ให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยและใบปริญญา และจัดการเรียนการสอนแบบเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการทำงานจริง โดยมี mentor ผู้ประสบความสำเร็จมีองค์กรหรือบริษัทต่างๆ และไม่ได้จบมหาวิทยาลัยมาให้คำแนะนำ นอกจากนี้ก็ยังมีทางเลือกของการเรียนการสอนออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ แต่เรทของผู้ผ่านการวัดผลระดับมหาวิทยาลัยจากช่องทางนี้ค่อนข้างต่ำ
ในสารคดียังมีทางเลือกและรายละเอียดกรณีต่างๆอีกหลายแห่ง แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว คนที่สามารถ "เลือก" จะไม่อยู่ในระบบได้ก็เป็นคนส่วนน้อยมากๆ การแก้ปัญหาเชิงนโยบายของรัฐและของมหาวิทยาลัยเองจึงน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอยู่ดี แต่การจะคาดหวังให้อเมริกาดำเนินตาม mission เดิมของบรรพบุรุษ เรื่องการให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม ก็คงจะอุดมคติเกินไปเช่นกัน สุดท้ายก็ไม่มีคำตอบ มีแต่คำถาม.."
มิตรสหายท่านหนึ่ง