ในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (西周1066 – 771 ปี ก่อนค.ศ. ) ประเทศจีนได้มีการใช้กฎกำหนดอายุแต่งงานที่ให้ชายแต่งหญิงเมื่ออายุ 30 ปี และหญิงแต่งเข้าบ้านฝ่ายชายเมื่ออายุ 20 ปี คนสมัยโบราณเห็นว่า ชายที่อายุ 30 ปี มีกล้ามเนื้อและกระดูกที่แข็งแรง สามารถทำหน้าที่พ่อได้ ส่วนหญิงที่มีอายุ 20 ปี ก็ถือเป็นวัยที่ร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่ สามารถทำหน้าที่แม่ได้ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึง ความรู้ทางด้านกายภาพของคนสมัยนั้นอยู่ในระดับสูง
ตั้งแต่นั้นมา การกำหนดอายุการแต่งงานของราชสำนักในแต่ละยุค ก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ สมัยยุคชุนชิว (春秋722 – 481 ปี ก่อนค.ศ. ) ฉีหวนกง(齐桓公) กำหนดให้ชายแต่งงานอายุ 30 ปี หญิงแต่งงานอายุ 15 ปี อ๋องเยว่โกวเจี้ยน(越王勾践) กำหนดไว้ว่า หากชายมีอายุ 20 ปี และหญิงอายุ 17 ปี แต่ยังไม่แต่งงาน บิดามารดาจะต้องรับได้โทษ ทั้งนี้ เนื่องมาจากระหว่างเจ้าครองแคว้นต่างๆ ล้วนต้องการแก่งแย่งอำนาจความเป็นใหญ่ จึงได้มีการใช้มาตรการการแต่งงานเร็วขึ้น เพื่อเป็นการเร่งให้ประชากรมีบุตรเพิ่มขึ้น ผลิตแรงงานและทหารเพิ่มขึ้น
สมัยราชวงศ์ฮั่น (汉206 ปี ก่อนค.ศ. – ค.ศ.220) เคยมีการกำหนดให้หญิงอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปที่ยังไม่ได้แต่งงาน จะต้องเสียภาษีที่นาและภาษีต่างๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม 5 เท่า เป็นการบังคับให้ประชาชนแต่งงานเร็วขึ้น จนกระทั่งมีพ่อแม่จำนวนมากที่ไม่รู้จักวิธีการดูแลเลี้ยงดูบุตร ทำให้อัตราการตายของทารกเพิ่มสูงขึ้น
สมัยจิ้นตะวันตก (西晋ปี ค.ศ.265 - 317) มีการกำหนดให้หญิงสาวที่อายุครบ 17 ปี พ่อแม่จะไม่มีสิทธิ์จัดการเรื่องการแต่งงานให้ หากแต่เป็นข้าราชการท้องที่นั้นๆ แทน ในสมัยราชวงศ์ฉีเหนือ (北齐ปี ค.ศ.550 - 577) ถึงกับเคยมีการกำหนดให้หญิงชายที่อายุระหว่าง 14 – 20 ปี ที่ไม่ได้แต่งงาน จะถูกเกณฑ์มาใช้แรงงาน
สมัยต้นราชวงศ์ถัง ได้มีการดำเนินนโยบายลดหย่อนภาระของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศชาติ เพื่อเป็นการคลี่คลายความขัดแย้งทางสังคม ดังนั้นจึงมีการผ่อนผันเรื่องอายุการแต่งงาน โดยกำหนดให้ชายแต่งงานเมื่ออายุ 20 ปี และหญิงแต่งงานเมื่ออายุ 15 ปี แต่ต่อมากลางสมัยราชวงศ์ถังได้ลดอายุลงมาเป็น ชายอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป และ หญิง 13 ปี ขึ้นไป ต่างต้องออกเรือนทั้งสิ้น มิฉะนั้นทางฝ่ายขุนนางจะเป็นผู้จัดการเรื่องนี้ให้เอง จากนั้นเป็นต้นมา ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งกระทั่งถึงราชวงศ์ชิง เกณฑ์อายุแต่งงานที่กฎหมายกำหนด คือ ชายอายุ 16 ปี และหญิงอายุประมาณ 14 ปี
เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรในสังคมสมัยโบราณของจีนอยู่ในระดับต่ำ บรรดาชนชั้นแรงงานต่างต้องการแรงงานมาช่วยประกอบอาชีพในชีวิตประจำวัน ดังนั้นภายใต้การบีบบังคับของบรรดาผู้ปกครองในแต่ละสมัย ทำให้ค่อยๆ เกิดการยอมรับในมาตรการให้แต่งงานขณะอายุยังน้อย ทั้งยังกลายเป็นค่านิยมที่สืบทอดต่อกันมา ในเรื่องการแต่งงานและมีบุตรเร็วของสังคมจีนสมัยโบราณ
กลางศตวรรษที่ 19 จนถึงช่วงการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม ค.ศ.1919(近代) อายุแต่งงานที่กฎหมายกำหนดค่อยๆ สูงขึ้นทีละน้อย “ประมวลกฎหมายแพ่ง” กำหนดให้ชายที่อายุยังไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ และหญิงที่อายุยังไม่ครบ 16 ปีบริบูรณ์ ไม่สามารถแต่งงานได้ ช่วงต้นของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน กฎหมายที่ว่าด้วยการแต่งงานของประเทศจีนกำหนดให้ชายอายุ 20 ปี และหญิงอายุ 18 ปี สามารถแต่งงานได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ชายต้องไม่แต่งงานก่อนอายุ 22 ปี และหญิงต้องไม่แต่งงานก่อนอายุ 20 ปี