ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั่วเกาะไต้หวัน ตกอยู่ท่ามกลางฟีเวอร์ การมาเยือนบ้านเกิดและร่วมงานเสวนาของเจนเซน หวง (Jensen Huang) หรือ"หวง เหริน-ซวิน"(黄仁勳)สุดยอดนักธุรกิจอเมริกันเชื้อสายจีนไต้หวันวัย 62 ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทหน่วยประมวลผลกราฟิกอย่าง"เอ็นวิเดีย" (Nvidia) นั้นกำลังได้รับความสนใจล้นหลามจากชาวโลก ผลจากความเฟื่องฟูของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทำให้ Nvidia หรือ"ฮุยต๋า"(輝達)เตรียมขึ้นเป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์แห่งแรกของโลกที่มีมูลค่าทะลุล้านล้านดอลล์
Jensen Huang บุรุษโดดเด่นที่การสวมแจ็คเก็ตหนังอันเป็นเอกลักษณ์ ได้ทักทายกับแม่ค้าผลไม้ที่อุดหนุนมาเมื่อ40 ปีก่อน อีกทั้งเลี้ยงข้าวขาหมูและของกินริมทางเจ้าประจำในตลาดโต้รุ่ง พร้อมทั้งทักทายกับชาวบ้านเป็นภาษาไต้หวัน(ไต่-งื่อ 台語)อย่างเป็นกันเอง
ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา Nvidia ถูกเปลี่ยนเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่มั่งคั่งที่สุด Huang ได้พยายามปลูกฝังแบรนด์ส่วนบุคคลที่แตกต่างโดยมีแกนกลางอยู่ที่ “แจ็คเก็ตหนังซิกเนเจอร์” แฟชั่นล้านล้านดอลลาร์นี้ถูกโชว์สู่สายตาสาธารณชนอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา เพราะ Huang มักจะสวมเสื้อแจ็คเก็ตหนังที่เป็นเหมือนเครื่องหมายการค้า ขึ้นเวทีเปิดตัวสินค้าหลายรุ่นอย่างต่อเนื่องจนได้รับความสนใจจากชาวเน็ต
หลังอำลาบ้านเกิดเมืองไถหนุน(台南市)กรุงเก่าไต้หวัน
แต่เขาและครอบครัว ก็เคยอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งขณะนั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เต็มไปด้วยความวุ่นวายทางการเมือง และสงครามเวียดนามที่กำลังคุกรุ่น
ก่อนอพยพไปสหรัฐอเมริกาขณะที่Jensen อายุเพียง 9 ขวบ ซึ่งทั้งครอบครัวพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย
สหรัฐอเมริกา แม้จะเป็น"ดินแดนแห่งโอกาส”
แต่ชีวิตในช่วงแรก ๆ ของเจนเซน กลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
เขามีปัญหาด้านการปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ เป็นอย่างมาก เพราะภายในโรงเรียน เต็มไปด้วยเด็ก ๆ ที่ใช้ความรุนแรง เด็กบางคนพกมีดไว้ในกระเป๋า
แต่โชคดีที่เป็นเด็กที่แข็งแกร่งมากพอ ที่จะผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนั้นไปได้
หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านั้น ก็ได้ย้ายไปเรียนมัธยมปลาย และได้ไปอยู่กับพ่อแม่อีกครั้ง ที่รัฐออริกอน ทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านอาหารแนวครอบครัวที่มีชื่อว่า Denny’s อีกด้วย
ก่อนที่จะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ Oregon State University ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จนกระทั่งจบการศึกษาในปี 1984 ช่วงเวลาที่เขาเรียนจบนั้น เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ถูกจังหวะอย่างพอดิบพอดี เพราะโลกเพิ่งจะก้าวเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC)
ทำให้เจนเซน เริ่มทำงานที่แรก ที่ AMD ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปเซตชื่อดัง ในตำแหน่งวิศวกรออกแบบ Microprocessor อยู่ราว ๆ 2 ปี
ก่อนจะย้ายงาน ไปอยู่กับ LSI Logic บริษัทออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ ที่เขาได้ทำงานในหลายตำแหน่ง ตั้งแต่การตลาด วิศวกร ไปจนถึงผู้จัดการทั่วไป
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของเจนเซน เกิดขึ้นในปี 1993 หลังจากทำงานกับ LSI Logic มานานหลายปี
ในปี 1993 เขากับเพื่อน ๆ อีก 2 คน คือ Chris Malachowsky และ Curtis R. Priem อดีตพนักงานของบริษัท Sun Microsystems ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Nvidia ขึ้นมา ขณะกำลังพูดคุยกันอยู่ที่ร้าน Denny’s ที่เคยทำงานพาร์ตไทม์ในสมัยเรียนมัธยมปลาย โดยเงินลงทุนก้อนแรก 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.4 ล้านบาท)
เขาได้ให้สัมภาษณ์สื่อที่ไต้หวันชนิดกินใจว่า
"ไม่มีใครฐานะสูงหรือต่ำ มนุษย์ทุกคนเกิดมาต่างเท่าเทียมกัน
ผมเชื่อว่า กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ ผมขัดล้างห้องน้ำห้องส้วม จำนวนครั้งอาจมากกว่าหลายคนด้วยซ้ำ"