การร่วมเพศ (อังกฤษ: sexual intercourse, coitus, copulation) เป็นการสอดใส่องคชาตเข้าไปในช่องคลอดเพื่อสุขารมณ์ทางเพศ, สืบพันธุ์ หรือทั้งสองอย่าง[3] โดยมักทำขณะอวัยวะเพศชายแข็งตัว อาจเรียกว่าการร่วมเพศทางช่องคลอด (อังกฤษ: vaginal intercourse, vaginal sex)[2][4] รูปแบบอื่นของการร่วมเพศแบบสอดใส่ ได้แก่ การร่วมเพศทางทวารหนัก, การร่วมเพศทางปาก, การใช้นิ้ว (fingering) และการใช้ดิลโด [5][6][7] กิจกรรมเหล่านี้เป็นความใกล้ชิดทางกายระหว่างคนสองคนหรือมากกว่า และมนุษย์มักใช้กิจกรรมนี้เพื่อสุขอารมณ์ และเพื่อเพิ่มความใกล้ชิด[5][8]
ภาพ Coition of a Hemisected Man and Woman (ประมาณ ค.ศ. 1492) วาดโดย เลโอนาร์โด ดา วินชี แสดงให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกายในการร่วมเพศระหว่างชาย-หญิง
การร่วมเพศในท่ามิชชันนารี ท่าร่วมเพศที่ถูกใช้บ่อยที่สุด[1][2] วาดโดย Édouard-Henri Avril (ค.ศ. 1892)
มีมุมมองหลากหลายเกี่ยวกับการประพฤติที่เรียกว่าเป็นการร่วมเพศหรือกิจกรรมทางเพศ[9][10] ซึ่งสามารถส่งผลต่อมุมมองเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ[11] แม้คำว่า การร่วมเพศ มักสื่อถึงการสอดใส่ขององคชาตเข้าไปยังช่องคลอดและโอกาสที่จะสร้างบุตร[3] แต่ก็สามารถหมายถึงการร่วมเพศทางปากและทางทวารหนักได้เช่นกัน[12] ส่วนการร่วมเพศแบบไม่สอดใส่ เช่น การสำเร็จความใคร่ให้กันและกัน (mutual masturbation) และการทำออรัลเซ็กซ์กับผู้หญิง (cunnilingus) ถูกเรียกว่า เพศสัมพันธ์ภายนอก (outercourse)[13] ทว่าการร่วมเพศแบบไม่สอดใส่อาจถือว่าเป็นการร่วมเพศได้เช่นเดียวกัน[5][14] คำว่า เซ็กส์ มักใช้เป็นคำย่อของ การร่วมเพศ (sexual intercourse) ทว่าสามารถหมายถึงกิจกรรมทางเพศทุกรูปแบบ[11][15] เนื่องจากการร่วมเพศมากับความเสี่ยงจะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ระหว่างการประกอบกิจกรรมเหล่านี้ได้[16][17] จึงมักมีการแนะนำให้ร่วมเพศอย่างปลอดภัย[16] อย่างไรก็ตามโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในการร่วมเพศแบบไม่สอดใส่ทางเพศร่วมของมนุษย์[18][19]
หลายเขตอำนาจศาลมีกฎหมายห้ามกระทำการทางเพศบางรูปแบบ เช่น การร่วมประเวณีกับญาติสนิท, การประกอบกิจกรรมทางเพศกับผู้เยาว์, การขายบริการทางเพศ, การข่มขืน, การสมสู่กับสัตว์, การชำเราแบบวิตถาร และการมีเพศสัมพันธ์นอกการสมรสหรือก่อนการสมรส ความเชื่อทางศาสนายังส่งผลต่อการตัดสินใจส่วนตัวเกี่ยวกับการร่วมเพศหรือกิจกรรมทางเพศแบบอื่น ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจเกี่ยวกับสภาพพรหมจารี[10][20] หรือประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายหรือนโยบายสาธารณะ มุมมองเกี่ยวกับเพศของแต่ละศาสนาแตกต่างกัน ทว่ามักมีบางแก่นเรื่องเหมือนกัน เช่น การห้ามไม่ให้คบชู้
การร่วมเพศเพื่อสืบพันธุ์ในสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์มักถูกเรียกว่า การผสมพันธุ์ (copulation) และน้ำอสุจิอาจถูกนำไปยังท่อสืบพันธุ์ของเพศหญิงโดยไม่ผ่านช่องคลอดในสัตว์บางชนิด เช่น การร่วมเพศทางทวารร่วม (cloacal copulation) สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ไม่ใช่มนุษย์ การผสมพันธุ์มักเกิดขึ้นในช่วงที่เจริญพันธุ์สูงสุดเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์[21][22] อย่างไรก็ตามมีการพบว่าลิงโบโนโบ, โลมา, และลิงชิมแปนซี สามารถมีเพศสัมพันธ์ แม้เพศเมียจะไม่ได้อยู่ในช่วงเจริญพันธุ์สูงสุด และยังสามารถร่วมเพศกับเพศเดียวกัน[23] คาดว่าสัตว์เหล่านี้ร่วมเพศเพื่อสุขอารมณ์เช่นเดียวกับมนุษย์[24][25] และยังเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม[24]